เวลาปัจจุบัน

จำนวนผู้เข้าชม

install tracking codes
Visitors Total

ปฏิทิน


วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา : วันมาฆบูชา (Buddhism Days : Makha Bucha Day) >>>

     วันมาฆบูชา (บาลี : มาฆปูชา, อักษรโรมัน : Magha Puja, อังกฤษ : Makha Bucha) เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และวันหยุดราชการในประเทศไทย โดยคำว่า "มาฆบูชา" ย่อมาจากคำว่า "มาฆปูรณมีบูชา" หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ ตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (ช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม) ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน (ปีอธิกมาส) ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 3 หลัง (วันเพ็ญเดือน 4)

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันมาฆบูชา >>>


ภาพที่ ว1-1  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ แก่พระอรหันตสาวกผู้เป็นเอหิภิกขุทั้ง 1,250 รูป
ที่มา : (https://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/4/4a/จตุรงคสันนิบาต.jpg, 2016)

     วันมาฆบูชา เป็นวันที่ระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าประทานโอวาทปาฏิโมกข์ แก่มหาสังฆสันนิบาต ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ซึ่งในวันนั้นมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการ ได้แก่
1) พระสงฆ์สาวกจำนวน 1,250 รูป ได้มาประชุมพร้อมกัน ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมาย
2) พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
3) พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมด ล้วนเป็นพระอรหันต์ ผู้ทรงอภิญญา 6
4) วันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3)

     ด้วยเหตุการณ์ประจวบกับ 4 อย่าง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จาตุรงคสันนิบาต (มาจากคำศัพท์ภาษาบาลี จาตุร+องฺค+สนฺนิปาต แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ประกอบทั้ง 4 ประการ) โดยประชุมกัน ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ หลังจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน (45 ปี ก่อนพุทธศักราช)

     โดยพระอรหันต์จำนวน 1,250 รูปนั้น ต่างไปเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ อันเป็นที่ประทับของพระองค์ โดยมีคณะศิษย์ของชฎิล 3 พี่น้อง รวม 1,000 องค์ คือ คณะพระอุรุเวลกัสสปะ (มีศิษย์ 500 องค์) คณะ
พระนทีกัสสปะ (มีศิษย์ 300 องค์) คณะพระคยากัสสปะ (มีศิษย์ 200 องค์) และคณะของพระอัครสาวกคือ คณะพระสารีบุตรและ
พระมหาโมคคัลลานะ (มีศิษย์ 250 องค์) รวมนับจำนวนได้ 1,250 รูป (จำนวนนี้ไม่ได้นับรวมชฎิล 3 พี่น้อง และพระอัครสาวกทั้งสอง)

     การเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในวันมาฆฤกษ์นี้ เป็นไปโดยมิได้มีการนัดหมาย และเป็นการเข้าประชุมของพระอรหันต์จำนวนมากเป็นมหาสังฆสันนิบาต และประกอบด้วย "องค์ประกอบอัศจรรย์ 4 ประการ" คือ พระสงฆ์สาวกที่มาประชุมพร้อมกันทั้ง 1,250 องค์นั้น ได้มาประชุมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย, พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดต่างล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นพระสงฆ์ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6 และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3


ภาพที่ ว1-2  พระพุทธรูปปางทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ที่วัดเวฬุวันมหาวิหาร
ที่มา : (https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/4/40/Buddha-image_at_Venuvana_Rajgir%2C_Bihar%2C_India.jpg, 2016)

     พระพุทธเจ้าเมื่อทอดพระเนตรเห็นมหาสังฆสันนิบาตอันประกอบไปด้วยเหตุอัศจรรย์ดังกล่าว จึงทรงเห็นเป็นโอกาสอันสมควรที่จะแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" อันเป็นหลักคำสอนสำคัญที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา แก่ที่ประชุมพระสงฆ์เหล่านั้น เพื่อวางจุดหมาย หลักการ และวิธีการ ในการเข้าถึงพระพุทธศาสนาแก่พระอรหันตสาวกและพุทธบริษัททั้งหลาย พระพุทธองค์จึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์เป็นพระพุทธพจน์ 3 คาถา ท่ามกลางมหาสังฆสันนิบาตนั้น โดยมีใจความดังต่อไปนี้

     1) พระพุทธพจน์คาถาแรก ทรงกล่าวถึงอุดมการณ์อันสูงสุดของพระภิกษุและบรรพชิตในพระพุทธศาสนานี้ อันมีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น อาจเรียกได้ว่า อุดมการณ์ 4 ของพระพุทธศาสนา ได้แก่

          1.1) ความอดทนอดกลั้น เป็นสิ่งที่นักบวชในศาสนานี้พึงยึดถือ และเป็นสิ่งที่ต้องใช้ เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจทุกอย่างที่ต้องเจอในชีวิตนักบวช เช่น ประสงค์ร้อนได้เย็น ประสงค์เย็นได้ร้อน เป็นต้น

          1.2) การมุ่งให้ถึงพระนิพพาน เป็นเป้าหมายหลักของผู้ออกบวช มิใช่สิ่งอื่นนอกจากพระนิพพาน

          1.3) พระภิกษุและบรรพชิตในพระธรรมวินัยนี้ ไม่พึงทำผู้อื่นให้ลำบากด้วยการเบียดเบียนทำความทุกข์ทางกาย หรือความทุกข์ทางใจ

          1.4) พึงเป็นผู้ที่มีจิตใจสงบจากอกุศลวิตกทั้งหลาย เช่น มีความโลภ โกรธ หลง เป็นต้น

     2) พระพุทธพจน์คาถาที่สอง ทรงกล่าวถึงหลักการอันเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา แก่พุทธบริษัททั้งปวงโดยย่อ หรือหลักการ 3 เป็นการสรุปรวบยอดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา อันเป็นแนวทางที่พุทธบริษัทควรพึงปฏิบัติ ได้แก่

          2.1) การไม่ทำบาปทั้งปวง

          2.2) การทำกุศลให้ถึงพร้อม

          2.3) การทำจิตใจให้บริสุทธิ์

     3) พระพุทธพจน์คาถาที่สาม ทรงกล่าวถึงวิธีการที่ธรรมทูตผู้เผยเพร่พระพุทธศาสนาถือเป็นกลยุทธ พระภิกษุที่ออกเผยแพร่พระพุทธศาสนา ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ให้ใช้วิธีการเหมือนกันเพื่อจะได้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และถูกต้องเป็นธรรม เรียกว่า วิธีการ 6

          3.1) การไม่กล่าวร้าย (การเผยแพร่พระพุทธศาสนาด้วยการไม่กล่าวร้าย โจมตีดูถูกความเชื่อของผู้อื่น)

          3.2) การไม่ทำร้าย (การเผยแพร่พระพุทธศาสนาด้วยการไม่ใช่กำลัง บังคับข่มขู่ด้วยวิธีการต่างๆ)

          3.3) ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ (การรักษาความประพฤติให้น่าเลื่อมใส)

          3.4) ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร (การเสพปัจจัยสี่ (อาหาร, ยารักษาโรค, เครื่องนุ่งห่ม, ที่อยู่อาศัย) อย่างรู้ประมาณพอเพียง)

          3.5) ที่นั่งนอนอันสงัด (การสันโดษ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ)

          3.6) ความเพียรในอธิจิต (การพัฒนาจิตใจตนเองอยู่เสมอ)

สถานที่สำคัญเนื่องด้วยวันมาฆบูชา (พุทธสังเวชนียสถาน) >>>


ภาพที่ ว1-3  กลุ่มป่าไผ่ร่มรื่น ในกลุ่มพุทธสถานโบราณวัดเวฬุวันมหาวิหาร
ที่มา : (https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/a/a2/Venuvana1.jpg, 2016)

     เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันมาฆบูชา เกิดภายในบริเวณที่ตั้งของ "กลุ่มพุทธสถานโบราณวัดเวฬุวันมหาวิหาร" ภายในอาณาบริเวณของวัดเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งลานจาตุรงคสันนิบาตอันเป็นจุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชานั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงและหาข้อสรุปทางโบราณคดีไม่ได้มาจนถึงปัจจุบัน

1) วัดเวฬุวันมหาวิหาร


ภาพที่ ว1-4  วัดเวฬุวันมหาวิหาร วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
ที่มา : (http://www.madoorayong.com/upload/pics/cf9fe0cbb27ac290fdb23989d72fde9a.jpg, 2012)

    วัดเวฬุวันมหาวิหาร หรือพระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เป็นอาราม (วัด) แห่งแรกในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ใกล้เชิงเขาเวภารบรรพต บนริมฝั่งแม่น้ำสรัสวดีซึ่งมีตโปธาราม (บ่อน้ำร้อนโบราณ) คั่นอยู่ระหว่างกลางนอกเขตกำแพงเมืองเก่าราชคฤห์ (อดีตเมืองหลวงของแคว้นมคธ) รัฐพิหาร ประเทศอินเดียในปัจจุบัน (หรือแคว้นมคธ ชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล)

          1.1) วัดเวฬุวันมหาวิหารในสมัยพุทธกาล

     แต่เดิมนั้น วัดเวฬุวันเป็นพระราชอุทยานสำหรับเสด็จประพาสของพระเจ้าพิมพิสาร เป็นสวนป่าไผ่ร่มรื่นมีรั้วรอบและกำแพงเข้าออก วัดเวฬุวันมีอีกชื่อหนึ่งปรากฏในพระสูตรว่า "พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน" หรือ "เวฬุวันกลันทกนิวาป" (สวนป่าไผ่ สถานที่สำหรับให้เหยื่อแก่กระแต) พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายพระราชอุทยานแห่งนี้เป็นวัดในพระพุทธศาสนา หลังจากได้สดับพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถาและ
จตุราริยสัจจ์ ณ พระราชอุทยานลัฏฐิวัน (พระราชอุทยานสวนตาลหนุ่ม) โดยในครั้งนั้นพระองค์ได้บรรลุพระโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา และหลังจากการถวายกลันทกนิวาปสถานไม่นาน พระอารามแห่งนี้ก็ได้ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระสงฆ์ประชุมจาตุรงคสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา อันเป็นเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชา

          1.2) วัดเวฬุวันมหาวิหารหลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

     หลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน วัดเวฬุวันได้รับการดูแลมาตลอด โดยเฉพาะมูลคันธกุฎี ที่มีพระสงฆ์เฝ้าดูแลทำการปัดกวาดเช็ดถู ปูลาดอาสนะและปฏิบัติต่อสถานที่ๆ พระพุทธเจ้าเคยประทับอยู่ทุกๆ แห่ง เหมือนสมัยที่พระพุทธองค์ทรงพระชนม์ชีพอยู่มิได้ขาด โดยมีการปฏิบัติเช่นนี้ติดต่อกันกว่าพันปี

     แต่จากเหตุการณ์ย้ายเมืองหลวงแห่งแคว้นมคธหลายครั้งในช่วง พ.ศ. 70 ที่เริ่มจากอำมาตย์และราษฎรพร้อมใจกันถอดกษัตริย์
นาคทัสสก์แห่งราชวงศ์ของพระเจ้าพิมพิสารออกจากพระราชบัลลังก์ และยกสุสูนาค อำมาตย์ซึ่งมีเชื้อสายเจ้าลิจฉวีในกรุงเวสาลีแห่งแคว้น
วัชชีเก่า ให้เป็นกษัตริย์ตั้งราชวงศ์ใหม่ แล้วพระเจ้าสุสูนาคจึงได้ทำการย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธไปยังเมืองเวสาลีอันเป็นเมืองเดิมของตน และกษัตริย์พระองค์ต่อมาคือพระเจ้ากาลาโศกราช ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุสูนาค ได้ย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธอีก จากเมืองเวสาลีไปยังเมืองปาตลีบุตร ทำให้เมืองราชคฤห์ถูกลดความสำคัญลงและถูกทิ้งร้าง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้วัดเวฬุวันขาดผู้อุปถัมภ์และถูกทิ้งร้างอย่างสิ้นเชิงในช่วงพันปีถัดมา

     โดยปรากฏหลักฐานบันทึกของหลวงจีนฟาเหียน (Fa-hsien) ที่ได้เข้ามาสืบศาสนาในพุทธภูมิในช่วงปี พ.ศ. 942–947 ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 (พระเจ้าวิกรมาทิตย์) แห่งราชวงศ์คุปตะ ซึ่งท่านได้บันทึกไว้ว่า เมืองราชคฤห์อยู่ในสภาพปรักหักพัง แต่ยังทันได้เห็นมูลคันธกุฎีวัดเวฬุวันมหาวิหารปรากฏอยู่ และยังคงมีพระภิกษุหลายรูปช่วยกันดูแลรักษาปัดกวาดอยู่เป็นประจำ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกถึงสถานที่เกิดเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตแต่ประการใด

     แต่หลังจากนั้นประมาณ 200 ปี วัดเวฬุวันก็ถูกทิ้งร้างไป ตามบันทึกของพระถังซำจั๋ง (Hiuen-Tsang) ซึ่งได้จาริกมาเมืองราชคฤห์ราวปี พ.ศ. 1300 ซึ่งท่านบันทึกไว้แต่เพียงว่า ท่านได้เห็นแต่เพียงซากมูลคันธกุฎีซึ่งมีกำแพงและอิฐล้อมรอบอยู่เท่านั้น (ในสมัยนั้นเมืองราชคฤห์โรยราถึงที่สุดแล้ว พระถังซำจั๋งได้แต่เพียงจดตำแหน่งที่ตั้งทิศทางระยะทางของสถูปและโบราณสถานเก่าแก่อื่นๆ ในเมืองราชคฤห์ไว้มาก ทำให้เป็นประโยชน์แก่นักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดีในการค้นหาโบราณสถานต่างๆ ในเมืองราชคฤห์ในปัจจุบัน)

          1.3) จุดแสวงบุญและสภาพของวัดเวฬุวันมหาวิหารในปัจจุบัน

     ปัจจุบันหลังถูกทอดทิ้งเป็นเวลากว่าพันปี และได้รับการบูรณะโดยกองโบราณคดีอินเดีย ในช่วงที่อินเดียยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ วัดเวฬุวันมหาวิหาร ยังคงมีเนินดินโบราณสถานที่ยังไม่ได้ขุดค้นอีกมาก สถานที่สำคัญๆ ที่พุทธศาสนิกชนในปัจจุบันนิยมไปนมัสการคือ
"พระมูลคันธกุฎี"
ที่ปัจจุบันยังไม่ได้ทำการขุดค้น เนื่องจากมีกุโบร์ของชาวมุสลิมสร้างทับไว้ข้างบนเนินดิน, "สระโบกขรณีกลันทกนิวาป" ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้ทำการบูรณะใหม่อย่างสวยงาม, และ "ลานจาตุรงคสันนิบาต" อันเป็นลานเล็กๆ มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่กลางซุ้ม ลานนี้เป็นจุดสำคัญที่ชาวพุทธนิยมมาทำการเวียนเทียนสักการะ (ลานนี้เป็นลานที่กองโบราณคดีอินเดียสันนิษฐานว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในจุดนี้)


ภาพที่ ว1-5  สระโบกขรณีกลันทกนิวาป สระน้ำกลางวัดเวฬุวันมหาวิหาร
ที่มา : (https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/9/91/Venuvana.jpg, 2016)


ภาพที่ ว1-6  พระพุทธรูปยืนกลางมณฑลโบราณสถานวัดเวฬุวันมหาวิหาร เมืองราชคฤห์ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
ที่มา : (https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/03/Rajgirbuddha.jpg, 2016)

          1.4) จุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชา (ลานจาตุรงคสันนิบาต)

     ถึงแม้ว่าเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตจะเป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่งที่เกิดในบริเวณวัดเวฬุวันมหาวิหาร แต่ทว่าไม่ปรากฏรายละเอียดในบันทึกของสมณทูตชาวจีนและในพระไตรปิฎกแต่อย่างใดว่าเหตุการณ์ใหญ่นี้เกิดขึ้น ณ จุดใดของวัดเวฬุวันมหาวิหาร รวมทั้งจากการขุดค้นทางโบราณคดีก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการทำเครื่องหมาย (เสาหิน) หรือสถูประบุสถานที่ประชุมจาตุรงคสันนิบาตไว้แต่อย่างใด (ตามปกติแล้วบริเวณที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา มักจะพบสถูปโบราณหรือเสาหิน พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างหรือปักไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายสำคัญสำหรับผู้แสวงบุญ) ทำให้ในปัจจุบันไม่สามารถทราบโดยแน่ชัดว่าเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตเกิดขึ้นในจุดใดของวัด

     ในปัจจุบันกองโบราณคดีอินเดียได้แต่เพียงสันนิษฐานว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดในบริเวณลานด้านทิศตะวันตกของสระกลันทกนิวาป (โดยสันนิษฐานเอาจากเอกสารหลักฐานว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีพระสงฆ์ประชุมกันมากถึงสองพันกว่ารูป และเกิดในช่วงที่พระพุทธองค์พึ่งได้ทรงรับถวายพระอารามแห่งนี้ การประชุมครั้งนั้นคงยังต้องนั่งประชุมกันตามลานในป่าไผ่ เนื่องจากเสนาสนะหรือโรงธรรมสภาขนาดใหญ่ยังคงไม่ได้สร้างขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันลานด้านทิศตะวันตกของสระโบกขรณีกลันทกนิวาป เป็นลานกว้างลานเดียวในบริเวณวัดที่ไม่มีโบราณสถานอื่นตั้งอยู่) โดยได้นำพระพุทธรูปยืนปางประทานพรไปประดิษฐานไว้บริเวณซุ้มเล็กๆ กลางลาน และเรียกว่า "ลานจาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่า ลานจาตุรงคสันนิบาตที่แท้จริงอยู่ในจุดใด และยังคงมีพุทธศาสนิกชนบางกลุ่มสร้างซุ้มพระพุทธรูปไว้ในบริเวณอื่นของวัด โดยเชื่อว่าจุดที่ตนสร้างนั้นเป็นลานจาตุรงคสันนิบาตที่แท้จริง แต่พุทธศาสนิกชนชาวไทยส่วนใหญ่ก็เชื่อตามข้อสันนิษฐานของกองโบราณคดีอินเดียดังกล่าว โดยนิยมนับถือกันว่า ซุ้มพระพุทธรูปกลางลานนี้เป็นจุดสักการะของชาวไทยผู้มาแสวงบุญจุดสำคัญ 1 ใน 2 แห่งของเมืองราชคฤห์ (อีกจุดหนึ่งคือ พระมูลคันธกุฎีบนยอดเขาคิชฌกูฏ)

กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันมาฆบูชา >>>

     ในวันมาฆบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดทั้งวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่นๆ เช่น ไปวัดรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น

     โดยก่อนทำการเวียนเทียน พุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวคำสวดมนต์และคำบูชาในวันมาฆบูชา โดยปกติตามวัดต่างๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ (โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน) ในเวลาประมาณ 20.00 น. โดยบทสวดมนต์ที่พระภิกษุสงฆ์นิยมสวดในวันมาฆบูชาก่อนทำการเวียนเทียน นิยมสวด (ทั้งบาลีและคำแปล) ตามลำดับดังต่อไปนี้

1) บทบูชาพระรัตนตรัย
2) บทนมัสการพระพุทธเจ้า
3) บทสรรเสริญพระพุทธคุณ
4) บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
5) บทสรรเสริญพระธรรมคุณ
6) บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
7) บทสรรเสริญพระสังฆคุณ
8) บทสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
9) บทสวดบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา

     จากนั้นจุดธูปเทียนและถือดอกไม้ เป็นเครื่องสักการบูชาในมือ แล้วเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบทสรรเสริญพระพุทธคุณ (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดบทสรรเสริญ
พระธรรมคุณ (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดบทสรรเสริญพระสังฆคุณ (รอบที่สาม) จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถาน จึงเป็นอันเสร็จพิธี

การกำหนดให้วันมาฆบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย >>>


ภาพที่ ว1-7  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์ผู้ทรงดำริให้มีพิธีมาฆบูชาเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย
ที่มา : (https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/4/4b/Thomson%2C_King_Mongkut_of_Siam.jpg, 2016)

     การประกอบพิธีในวันมาฆบูชาได้เริ่มมีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เนื่องจากพระองค์ทรงเล็งเห็นว่า วันนี้เป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในพระพุทธศาสนา คือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ฯลฯ ควรจะได้มีการประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลต่างๆ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยในครั้งแรกนั้นได้ทรงกำหนดเป็นเพียงการพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลเป็นการภายใน ต่อมาประชาชนก็ได้นิยมนำพิธีนี้ไปปฏิบัติสืบต่อมา จนกลายเป็นวันประกอบพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่งไป


ภาพที่ ว1-8  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์ผู้ทรงประกาศให้วันมาฆบูชาเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์
ที่มา : (https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/6/64/King_Vajiravudh_portrait_photograph.jpg, 2016)

     เนื่องจากในประเทศไทย พุทธศาสนิกชนได้มีการประกอบพิธีในวันมาฆบูชาสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และนับถือกันโดยพฤตินัยว่า วันนี้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยมาตั้งแต่นั้น โดยเมื่อถึงวันมาฆบูชา พุทธศาสนิกชนจะร่วมใจกันประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลต่างๆ กันเป็นงานใหญ่ ดังนั้นเมื่อถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) พระองค์จึงทรงประกาศให้วันมาฆบูชาเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพื่อที่ชาวไทยจะได้ร่วมใจกันบำเพ็ญกุศลในวันมาฆบูชาโดยพร้อมเพรียงกัน

     ในปัจจุบันยังคงปรากฏการประกอบพิธีมาฆบูชาอยู่ในประเทศไทย และประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย เช่น ลาว และกัมพูชา (ซึ่งเป็นส่วนที่ไทยได้เสียให้แก่ฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5) โดยไม่ปรากฏว่า มีการประกอบพิธีนี้ในประเทศพุทธมหายานอื่นหรือประเทศพุทธเถรวาทนอกจากนี้ เช่น เมียนมา และศรีลังกา ซึ่งคงสันนิษฐานได้ว่า พิธีมาฆบูชานี้เริ่มต้นจากการเป็นพระราชพิธีของราชสำนักไทย และได้ขยายไปเฉพาะในเขตราชอาณาจักรสยามในเวลานั้น ต่อมาดินแดนไทยในส่วนที่เป็นประเทศลาวและกัมพูชาได้ตกเป็นดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศส และได้รับเอกราชในเวลาต่อมา พุทธศาสนิกชนในประเทศทั้งสองที่ได้รับคตินิยมการปฏิบัติพิธีมาฆบูชาตั้งแต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของ
ราชอาณาจักรสยาม คงได้ถือปฏิบัติพิธีมาฆบูชาอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้มีการยกเลิก จึงทำให้คงปรากฏพิธีมาฆบูชาในประเทศดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน

การประกอบพิธีทางศาสนาในวันมาฆบูชา >>>

1) พระราชพิธีเนื่องในวันมาฆบูชา


ภาพที่ ว1-9  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันมาฆบูชา
ที่มา : (https://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/d/d3/ทรงพระราชกุศล.jpg, 2016)

     พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในวันมาฆบูชานี้ โดยปกติแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช จะเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล และบางครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ โดยสถานที่ประกอบพระราชพิธีจะจัดในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำนักพระราชวังจะออกหมายกำหนดการประกาศการพระราชพิธีนี้ให้ทราบทั่วไปเป็นประจำทุกปี ในอดีตจะใช้ชื่อเรียกการพระราชพิธีในราชกิจจานุเบกษาแตกต่างกัน บางครั้งจะใช้ชื่อ "การพระราชกุศลมาฆบูชาจาตุรงคสันนิบาต" หรือ "การพระราชกุศลมาฆบูชา" หรือ "มาฆบูชา" ส่วนในรัชกาลปัจจุบัน สำนักพระราชวังจะใช้ชื่อเรียกหมายกำหนดการที่ชัดเจน เช่น "หมายกำหนดการพระราชกุศลมาฆบูชา พุทธศักราช 2522" เป็นต้น

     รายละเอียดการประกอบพระราชพิธีมาฆบูชา ในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้มีพระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับการพระราชพิธีในเดือนสาม คือ พระราชพิธีบำเพ็ญกุศลในวันมาฆบูชาไว้ มีใจความว่า

     "เวลาเช้า พระสงฆ์วัดบวรนิเวศและวัดราชประดิษฐ ๓๐ รูป ฉันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเหมือนอย่างที่วัด แล้วจึงได้สวดมนต์ต่อไป มีสวดคาถาโอวาทปาฏิโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่ม มีประโคมด้วยอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงมีเทศนาโอวาทปาฏิโมกข์กัณฑ์ ๑ เป็นเทศนาทั้งภาษามคธและภาษาสยาม เครื่องกัณฑ์จีวรเนื้อดีผืนหนึ่ง เงิน ๓ ตำลึง และขนมต่างๆ เทศน์จบพระสงฆ์สวดมนต์รับสัพพี ๓๐ รูป"

     ในรัชกาลต่อมาได้มีการลดทอดพิธีบางอย่างออกไปบ้าง เช่น ยกเลิกการถวายภัตตาหารพระสงฆ์ในเวลาเช้า หรือการจุดเทียนรวม 1,250 เล่ม เป็นต้น แต่ก็ยังคงมีการบำเพ็ญพระราชกุศลในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเหมือนเคย โดยในบางปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงประกอบพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลมาฆบูชา และทรงเวียนเทียนรอบพุทธศาสนสถานเป็นการส่วนพระองค์ ตามพระอารามหลวงหรือวัดราษฎร์อื่นๆ บ้าง ตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งการพระราชพิธีวันมาฆบูชานี้เป็นการแสดงออกถึงพระราชศรัทธาอันแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนา ขององค์พระมหากษัตริย์ไทย ผู้ทรงเป็นเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภ์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

2) พิธีสามัญ


ภาพที่ ว1-10  พิธีเวียนเทียน เนื่องในวันมาฆบูชา
ที่มา : (https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/a/a1/Magha_Puja_Day_in_Wat_Khung_Taphao_01.jpg, 2016)

     การประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเนื่องในวันมาฆบูชาของพุทธศาสนิกชนชาวไทย โดยทั่วไปนิยมทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียนรอบพระอุโบสถ หรือสถูปเจดีย์พุทธสถานต่างๆ ภายในวัด เพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวันมาฆบูชานั่นเอง

     พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมนับถือเอาวันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญในการละเว้นความชั่ว บำเพ็ญความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ตามแนวทางพระบรมพุทโธวาท โดยมีแนวปฏิบัติในการประกอบพิธีในวันมาฆบูชาคล้ายกับการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา คือ มีการตั้งใจบำเพ็ญกุศลทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนาและเจริญจิตตภาวนา เมื่อถึงเวลากลางคืน มีการเวียนเทียนถวายเป็นพุทธบูชาตามพระอารามต่างๆ และอาจมีการบำเพ็ญปกิณณกะกุศลต่างๆ ตลอดคืนตามแต่จะเห็นสมควร

     การประกอบพิธีวันมาฆบูชาในปัจจุบันนี้ นอกจากการเวียนเทียน ทำบุญตักบาตร ในวันสำคัญแล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐ องค์กรทางศาสนา และภาคประชาชน ร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมากมาย เพื่อเป็นการเผยแพร่พระพุทธศาสนา และประชาสัมพันธ์กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาต่างๆ ให้แก่ประชาชน เช่น กิจกรรมสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนาวันมาฆบูชา ณ ท้องสนามหลวง หรือตามวัดในจังหวัดต่างๆ เป็นต้น

วันสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับวันมาฆบูชา >>>

1) วันคล้ายวันปลงพระชนมายุสังขาร


ภาพที่ ว1-11  ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี สถานที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงทำการปลงพระชนมายุสังขาร
ที่มา : (https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/e/e2/Relicstupa-vaishali.jpg, 2016)

     นอกจากเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตในวันเพ็ญเดือน 3 ในพรรษาแรกของพระพุทธเจ้าแล้ว ในวันเพ็ญเดือน 3 แห่งพรรษาสุดท้ายของพระพุทธเจ้า (คราวที่ทรงพระชนมายุ 80 พรรษา) ก็ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นอีกเหตุการณ์หนึ่งคือ พระพุทธองค์ได้ทรงปลงพระชนมายุสังขาร โดบพระพุทธเจ้าเสด็จพักผ่อนกลางวัน ณ ปาวาลเจดีย์ ทรงแสดงนิมิตโอภาสแก่พระอานนท์ว่า ผู้ใดเจริญอิทธิบาท 4 ประการ อาจมีอายุยืนได้ถึงกัป แต่พระอานนท์มิได้ทูลอาราธนา เมื่อพระอานนท์ออกไป มารจึงได้มาอาราธนาให้เสด็จนิพพาน พระองค์ทรงมีสติสัมปชัญญะ ปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ว่า อีก 3 เดือนจะเสด็จปรินิพพาน เมื่อพระอานนท์ทราบ จึงกราบทูลอาราธนาให้ทรงพระชนม์ชีพอยู่อีก แต่พระศาสดาตรัสว่า มิใช่กาล เพราะได้ทรงแสดงนิมิตแล้วถึง 16 ครั้ง ทรงทำนายว่า ในวันเพ็ญเดือน 6 (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6) ที่จะมาถึง พระองค์จะเข้าสู่มหาปรินิพพาน จึงถือได้ว่า วันมาฆบูชาเป็นวันคล้ายวันสำคัญของพระพุทธศาสนา 2 เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ วันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ และวันที่ทรงทำการปลงพระชนมายุสังขาร

2) วันกตัญญูแห่งชาติ

     ในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของวันมาฆบูชา (ที่อาจถือได้ว่า เป็นวันแห่งความรักของพระพุทธศาสนา) โดยถือว่าเหตุการณ์สำคัญที่เหล่าพระสาวกทั้ง 1,250 รูป ได้กลับมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยความรักในพระองค์ หลังจากได้ออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาโดยมิได้นัดหมายดังกล่าว เป็นสิ่งที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีอันบริสุทธิ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาในปฏิทินจันทรคติในวันเพ็ญเดือน 3 มักจะใกล้กับช่วง "เทศกาลวันวาเลนไทน์" อันเป็นเทศกาลวันแห่งความรักของคริสต์ศาสนา ซึ่งวัยรุ่นไทยบางกลุ่มมักยึดถือคติค่านิยมวันแห่งความรักในวันวาเลนไทน์ผิดๆ โดยนิยมยึดถือกันว่า เป็นวันแห่งความรักของคนหนุ่มสาว หรือแม้กระทั่งถือว่าเป็น "วันเสียตัวแห่งชาติ" ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่านิยมทางจริยธรรมและศีลธรรมของวัยรุ่นไทย รัฐบาลไทยในสมัยนั้นจึงได้ประกาศให้วันมาฆบูชาเป็นวันกตัญญูแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมค่านิยมที่เหมาะสมแก่วัยรุ่นไทย ให้หันมาสนใจกับความรักอันบริสุทธิ์ที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน แทนที่จะไปมัวเมากับความรักใคร่ชู้สาว หรือเรื่องฉาบฉวยทางเพศของหนุ่มสาว อันจะก่อให้เกิดปัญหาแก่สังคมตามมา

บรรณานุกรม (Bibilography) >>>

1) วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2559. วันมาฆบูชา. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/วันมาฆบูชา. 10 พฤษภาคม 2559
2) วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2559. วัดเวฬุวันมหาวิหาร. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/วัดเวฬุวันมหาวิหาร. 10 พฤษภาคม 2559

กลับไปยังหน้า "วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา" >>>

หน้าแรก | ความเป็นมา | ข่าวและกิจกรรม | เที่ยวชมวัด | บรรยายธรรม | บทสวดมนต์ | ติดต่อวัด | กลับขึ้นด้านบน
สงวนลิขสิทธิ์ ปี 2559 โดยมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์
จัดทำ ออกแบบและดูแล Website โดย นายรังสิมันตุ์ วงษ์นิกร

Free Web Hosting