เวลาปัจจุบัน

จำนวนผู้เข้าชม

install tracking codes
Visitors Total

ปฏิทิน


วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา : วันวิสาขบูชา (Buddhism Days : Visakha Bucha Day) >>>


ภาพที่ ว2-1  3 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันวิสาขบูชา (ประสูติ, ตรัสรู้, ปรินิพพาน)
ที่มา : (http://www.watthasai.net/pic2/wisaka_day_01.jpg, 2016)

     วันวิสาขบูชา (บาลี : วิสาขปูชา, อังกฤษ : Vesakha Bucha) เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนาสำหรับชาวพุทธทุกนิกายทั่วโลก ทั้งเป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศ และวันสำคัญในระดับนานาชาติ ตามข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า โดยทั้งสามเหตุการณ์ได้เกิดขึ้น ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่า เป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วิสาขบูชา" ซึ่งย่อมาจากคำว่า "วิสาขปุรณมีบูชา" หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ อันเป็นเดือนที่ 2 ตามปฏิทินของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย และมักตรงกับเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ในประเทศไทย ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 7 แต่ประเทศอื่นที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท และไม่ได้ถือคติตามปฏิทินจันทรคติไทย จะจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 แม้ในปีนั้นจะมีเดือน 8 สองหน ตามปฏิทินจันทรคติไทยก็ตาม ส่วนในกลุ่มชาวพุทธมหายานบางนิกายที่นับถือว่า เหตุการณ์ทั้ง 3 นั้นเกิดในวันต่างกันไป จะมีการจัดพิธีวิสาขบูชาต่างวันกัน ตามความเชื่อในนิกายของตน ซึ่งไม่ตรงกับวันวิสาขบูชาตามปฏิทินของชาวพุทธเถรวาท

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันวิสาขบูชา >>>

1) วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ


ภาพที่ ว2-2  พระพุทธเจ้าประสูติใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน
ที่มา : (http://hilight.kapook.com/img_cms2/user/pimjun/bhudda02.jpg, 2016)

     เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางแปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ครั้นพระกุมารประสูติได้ 5 วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" ซึ่งหมายถึง สมปรารถนา

     เมื่อข่าวการประสูติแพร่ไปถึงอสิตดาบส 4 ผู้อาศัยอยู่ในอาศรมเชิงเขาหิมาลัย และมีความคุ้นเคยกับพระเจ้าสุทโธทนะ ดาบสจึงเดินทางไปเข้าเฝ้า และเมื่อเห็นพระราชกุมารก็ทำนายได้ทันทีว่า นี่คือผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงกล่าวพยากรณ์ว่า "พระราชกุมารนี้จักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เห็นแจ้งพระนิพพานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ทรงหวังประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก จะประกาศธรรมจักรพรหมจรรย์ของพระกุมารนี้จักแพร่หลาย" แล้วกราบลงแทบพระบาทของพระกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์นั้น ทรงรู้สึกอัศจรรย์และเปี่ยมล้นด้วยปีติ ถึงกับทรุดพระองค์ลงอภิวาทพระราชกุมารตามอย่างดาบส

2) วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ


ภาพที่ ว2-3  พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ ณ ต้นศรีมหาโพธิ์
ที่มา : (http://hilight.kapook.com/img_cms2/user/pimjun/bhudda03.jpg, 2016)

     หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี จนเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ใต้ต้นอัสสะพฤกษ์ (หลังจากการตรัสรู้ จึงได้ชื่อใหม่ว่า "ต้นพระศรีมหาโพธิ์" หรือ "ต้นโพธิ์") ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดของวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ในปัจจุบัน

     สิ่งที่ตรัสรู้ คือ อริยสัจ 4 เป็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่ต้นอัสสะพฤกษ์ และทรงเจริญสมาธิภาวนาจนจิตเป็นสมาธิได้ฌานที่ 4 แล้วบำเพ็ญภาวนาต่อไปจนได้ฌาน 3 คือ

     1) ยามต้น : ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุติญาณ" คือ ทรงระลึกชาติในอดีต ทั้งของตนเองและผู้อื่นได้

     2) ยามสอง : ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือ การรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการมีตาทิพย์ สามารถเห็นการจุติและอุบัติของวิญญาณทั้งหลายได้

     3) ยามสาม หรือยามสุดท้าย : ทรงบรรลุ "อาสวักขญาณ" คือ รู้วิธีกำจัดกิเลสด้วยอริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน 6 ซึ่งในขณะนั้น พระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ 35 พรรษา

3) วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินืิพพาน


ภาพที่ ว2-4  พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ กรุงกุสินารา
ที่มา : (http://hilight.kapook.com/img_cms2/user/pimjun/bhudda03.jpg, 2016)

     เมื่อพระพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมเป็นเวลานานถึง 45 ปี จนมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงพระประชวรอย่างหนัก ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 6 พระพุทธเจ้า กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระพุทธเจ้าเสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธปรินิพพาน

     เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตน และประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน ในราตรีเพ็ญเดือน 6 นั้น

สถานที่สำคัญเนื่องด้วยวันวิสาขบูชา (พุทธสังเวชนียสถาน) >>>

1) ลุมพินีวัน


ภาพที่ ว2-5  ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่มา : (https://www.ilovetogo.com/FileUpload/Editor/ImagesUpload/WebContent/Story/5402/18/5402180603.jpg, 2011)

     ลุมพินีวัน (อักษรโรมัน : Lumbini Vana) เป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญแห่งที่ 1 (1 ใน 4 แห่งของชาวพุทธ) เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาตรัสรู้เป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่อำเภอไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล เป็นพุทธสังเวชนียสถาน 4 ตำบล เพียงแห่งเดียวที่อยู่นอกประเทศอินเดีย

     ลุมพินีวัน เดิมเป็นสวนป่าสาธารณะ หรือวโนทยานที่ร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อน ในสมัยพุทธกาล ลุมพินีวันตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ ในแคว้นสักกะ บนฝั่งแม่น้ำโรหิณี หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชได้โปรดให้สร้างเสาหินขนาดใหญ่ มาปักไว้ตรงบริเวณที่ประสูติ เรียกว่า เสาอโศก ที่จารึกข้อความเป็นอักษรพราหมีว่า พระพุทธเจ้าประสูติที่ตรงนี้

     ในปัจจุบัน ลุมพินีวันอยู่ในเขตประเทศเนปาล ติดชายแดนประเทศอินเดีย ทางทิศเหนือ ณ เมืองโคราฆปุระ ห่างจากเมืองติเลาราโกต (หรือกรุงกบิลพัสดุ์) ทางทิศตะวันออก 11 กิโลเมตร และห่างจากเมืองสิทธารถนคร (หรือกรุงเทวทหะ) ทางทิศตะวันตก 11 กิโลเมตร ซึ่งถูกต้องตามตำราพระพุทธศาสนาที่กล่าวว่า ลุมพินีวัน ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ ปัจจุบัน ลุมพินีวันมีเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ ทางการเรียกสถานที่นี้ว่า รุมมินเด มีสภาพเป็นชนบท มีผู้อาศัยอยู่ไม่มาก มีสิ่งปลูกสร้างเป็นพุทธสถานเพียงเล็กน้อย แต่มีวัดพุทธอยู่ในบริเวณนี้หลายวัด รวมทั้งวัดไทยลุมพินี ลุมพินีวันได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540

2) พุทธคยา


ภาพที่ ว2-6  พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่มา : (http://www.doubleenjoy.com/Images/India/แสวงบุญอินเดีย-09.jpg, 2016)

     พุทธคยา (บาลี : พุทฺธคยา, อังกฤษ : Bodh Gaya, Mahabodhi Temple) คือ คำเรียกกลุ่มพุทธสถานสำคัญในอำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นพุทธสถานที่มีความสำคัญที่สุด 1 ใน 4 แห่ง ของชาวพุทธ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในปัจจุบัน พุทธคยามีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัดมหาโพธิ อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วมพุทธ-ฮินดู

     พุทธคยา ปัจจุบันตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา ไกลจากฝั่งแม่น้ำประมาณ 350 เมตร (นับจากพระแท่นวัชรอาสน์) พุทธคยามีสัญลักษณ์ที่สำคัญคือ องค์เจดีย์สี่เหลี่ยมที่สูงใหญ่ โดยสูงถึง 51 เมตร ฐานวัดโดยรอบได้ 121.29 เมตร ล้อมรอบด้วยโบราณวัตถุ และโบราณสถานที่สำคัญ เช่น ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระแท่นวัชรอาสน์ (ที่ประทับตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า) และอนิมิสสเจดีย์ เป็นต้น นอกจากนี้ บริเวณโดยรอบพุทธคยายังเป็นที่ตั้งของวัดพุทธนานาชาติ รวมทั้งวัดไทยคือ วัดไทยพุทธคยา อีกด้วย

     สำหรับชาวพุทธแล้ว พุทธคยา นับเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุดของนักแสวงบุญชาวพุทธทั่วโลก ที่ต้องการมาสักการะสังเวชนียสถานสำคัญ 1 ใน 4 แห่งของพระพุทธศาสนา โดยในปี พ.ศ. 2545 วัดมหาโพธิ (พุทธคยา) สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ขององค์การยูเนสโก

3) เมืองกุสินารา


ภาพที่ ว2-7  กุสินารา สถานที่ดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่มา : (http://www.dhammajak.net/board/files/paragraph_5_203.jpg, 2012)

     กุสินารา หรือกุศินคร (อังกฤษ : Kusinaga, Kushinagar) เป็นที่ตั้งของสังเวชนียสถานแห่งที่ 4 ในสมัยพุทธกาล เป็นเมืองเอก 1 ใน 2 เมืองของแคว้นมัลละ อยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำคู่กับเมืองปาวา เป็นที่ตั้งของสาลวโนทยาน หรือป่าไม้สาละ ที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน และเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าอีกด้วย

     กุสินารา จัดเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญแห่งที่ 4 ใน 4 สังเวชนียสถานของชาวพุทธ เป็นสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่ตำบลมถากัวร์ อำเภอกุสินคร หรือกาเซีย หรือกาสยา (Kushinaga; Kasia; Kasaya) ในเขตจังหวัดเทวริยา (Devria; Devriya) รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย

     สาลวโนทาย สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า มาถากุนวะระกาโกฎ (Matha-Kunwar-Ka-Kot) ซึ่งหมายถึง ตำบลเจ้าชายสิ้นชีพ ปรากฏตามคัมภีร์ว่า เมืองกุสินารานี้ เคยเป็นที่ดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ผุสสะ เป็นที่เกิดบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์หลายครั้ง เคยเป็นราชธานีนามว่า กุสาวดี ของพระเจ้ามหาสุทัสสนจักรพรรดิ์

     ในปัจจุบัน เมืองกุสินารามีอนุสรณ์สถานที่สำคัญ คือ สถูปใหญ่ ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ วิหารปรินิพพาน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปรินิพพานอยู่ภายใน และมีซากศาสนสถานโบราณโดยรอบมากมาย

กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันวิสาขบูชา >>>

     ในวันวิสาขบูชานี้ ถือเป็นวันสำคัญยิ่งที่ชาวพุทธทั่วโลกจะมารวมกันจัดพิธีทำบุญใหญ่หรือจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อบำเพ็ญกุศล และระลึกถึงพระพุทธเจ้า ซึ่งในฐานะที่วันวิสาขบูชาได้รับการยกย่องให้เป็นวันสำคัญสากลของโลก เมื่อถึงวันวิสาขบูชา องค์การสหประชาชาติจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธเจ้าด้วย เช่น สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีการอัญเชิญพระเจดีย์วิสาขบูชานุสรณ์ สกลโลกประกาศบูชาวันวิสาขะ (ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ) ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ มาประดิษฐานให้ประชาชนสักการะบูชา เป็นต้น

     ในวันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดทั้งวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่นๆ เช่น ไปวัดรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น

     โดยก่อนทำการเวียนเทียน พุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวคำสวดมนต์และคำบูชาในวันอาสาฬหบูชา โดยปกติตามวัดต่างๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ (โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน) ในเวลาประมาณ 20.00 น. โดยบทสวดมนต์ที่พระภิกษุสงฆ์นิยมสวดในวันวิสาขบูชาก่อนทำการเวียนเทียน นิยมสวด (ทั้งบาลีและคำแปล) ตามลำดับดังต่อไปนี้

1) บทบูชาพระรัตนตรัย
2) บทนมัสการพระพุทธเจ้า
3) บทสรรเสริญพระพุทธคุณ
4) บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
5) บทสรรเสริญพระธรรมคุณ
6) บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
7) บทสรรเสริญพระสังฆคุณ
8) บทสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
9) บทสวดบูชาเนื่องในวันวิสาขบูชา

     จากนั้นจุดธูปเทียนและถือดอกไม้ เป็นเครื่องสักการบูชาในมือ แล้วเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบทสรรเสริญพระพุทธคุณ (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดบทสรรเสริญ
พระธรรมคุณ (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดบทสรรเสริญพระสังฆคุณ (รอบที่สาม) จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถาน จึงเป็นอันเสร็จพิธี

การประกอบพิธีทางศาสนาในวันวิสาขบูชา >>>

1) พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันวิสาขบูชา


ภาพที่ ว2-8  พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)
ที่มา : (http://202.143.139.100/4611lib/UserFiles/Image/image.gif, 2008)

     พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในวันวิสาขบูชานี้ มีปรากฏในพระราชนิพนธ์ "พระราชพิธีสิบสองเดือน" ด้วย โดยได้ทรงกล่าวถึง
การพระราชพิธีในเดือนหก คือ พระราชพิธีบำเพ็ญกุศลในวันวิสาขบูชาไว้ เรียกว่า "พิธีไพศาขย์ จรดพระราชนังคัล" (คือ ในเดือน 6 มี
พระราชพิธีสำคัญสองพระราชพิธีคือ "พระราชพิธีวิสาขบูชา" และ "พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ")

     การพระราชพิธีนี้ โดยปกติแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จะเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล และบางครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ โดยสถานที่ประกอบ
พระราชพิธีหลักจะจัดในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำนักพระราชวังจะออกหมายกำหนดการประกาศการพระราชพิธีนี้ให้ทราบเป็นประจำทุกปี ในอดีตจะใช้ชื่อเรียกการพระราชพิธีในราชกิจจานุเบกษาแตกต่างกัน บางครั้งจะใช้ชื่อ "การพระราชกุศลวิสาขบูชา และกาลานุกาล" หรือ "การพระราชกุศลกาลานุกาลวิสาขบูชา" หรือ "วิสาขบูชา" ส่วนในรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ 9) สำนักพระราชวังจะใช้ชื่อเรียกหมายกำหนดการที่ชัดเจน เช่น หมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา พุทธศักราช 2551 เป็นต้น

     รายละเอียดการประกอบพระราชพิธีวิสาขบูชา อาจพิจารณาได้จากราชกิจจานุเบกษา ประกาศหมายกำหนดการวิสาขบูชาในปีนั้นๆ ได้ ในอดีต การประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาจัดว่า เป็นพิธีใหญ่ ดังตัวอย่างความในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 13 หน้า 105 ที่ประกาศในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2437 เรื่อง "การพระราชกุศลวิสาขบูชา และกาลานุกาล" ว่า

     " ...วันจันทร์เพ็ญ เสวยวิสาขนักษัตรฤกษ ซึ่งนิยมสืบมาแต่โบราณว่า เป็นมหามงคลสมัย คล้ายกับวันประสูติแลวันตรัสรู้ วันดับขันธปรินิพพาน ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ในรัตนโกสินทร์ศก 113 นี้ ตกในวันที่ 19 พฤษภาคม ได้มีการพระราชกุศลในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม ตลอดไป 3 วันตามเคย คือ เวลาเช้า วันที่ 18 ที่ 19 พฤษภาคม มีการเลี้ยงพระสงฆ์ 20 รูป วันที่ 20 พฤษภาคม มีการเลี้ยงพระสงฆ์ 34 รูป ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวลาค่ำในวันทั้ง 3 นั้น พระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการ ได้จัดโคมตราตำแหน่งแลเทียนรุ่งมาจุด จัดพวงดอกไม้ต่างๆ มาแขวน ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม บูชาพระรัตนไตรย มีจำนวนโคมตรา 296 โคม เทียนรุ่ง 57 เล่ม พวงดอกไม้ 1005 พวง รวมทั้ง 3 คืน ของหลวงมีดอกไม้เพลิงบูชา แลเทศนาประถมสมโพธิ์ด้วย วันที่ 18 พฤษภาคม พระอมรโมลีถวายคัพโภกกันติกถา 1 กัณฑ์ วันที่ 19 พฤษภาคม พระเมธาธรรมรสถวายอภิสัมโพธิกถา 1 กัณฑ์ วันที่ 20 พฤษภาคม พระวิเชียรมุนีถวายปรินิพพานกถา 1 กัณฑ์ ก่อนแต่มีเวลาเทศน์ ในวันที่ 19 ที่ 20 มีการเดินเทียนด้วย แลในวันที่ 19 นั้น พระสงฆ์ 24 รูป (ซึ่งได้รับพระราชทานฉันในวันที่ 20) ได้เจริญพระพุทธมนต์ที่พระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ด้วย ส่วนการวิสาขบูชาตามพระอารามหลวงบางพระอาราม ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเทียนรุ่งเทียนราย และเทียนประจำกัณฑ์ไป เช่นทุกปีมา อนึ่งวันที่ 20 พฤษภาคม นี้ เปนวันสดับปกรณ์กาลานุกาลด้วย พระสงฆ์ 34 รูปนั้น เมื่อรับพระราชทานฉันแล้ว ได้สดับปกรณ์ โดยที่จัดอนุโลมในพระบรมอัฏฐิแลพระอัฏฐิ ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย 29 รูป ขึ้นไปสดับปกรณ์ที่พระราชวังบวร 5 รูปแล้ว มีสดับปกรณ์รายร้อย 400 รูป... "

- ราชกิจจานุเบกษา, การพระราชกุศลวิสาขบูชา และกาลานุกาล, เล่ม 13,
31 พฤษภาคม พ.ศ. 2437, หน้า 105

     ในรัชกาลต่อมาได้มีการลดทอดพิธีบางอย่างออกไปบ้าง เช่น งดการพระราชพิธีในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ลดวันประกอบพระราชพิธีจาก 3 วัน คงเหลือ 2 วัน ยกเลิกการถวายภัตตาหารพระสงฆ์ หรือการจุดเทียนโคมเทียนราย เป็นต้น แต่ก็ยังคงมีการบำเพ็ญพระราชกุศลในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเหมือนเคย โดยในบางปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงประกอบพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา และทรงเวียนเทียนรอบพุทธศาสนสถาน เป็นการส่วนพระองค์ตามพระอารามหลวงหรือวัดราษฎร์อื่นๆ บ้าง ตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งการพระราชพิธีนี้เป็นการแสดงออกถึงพระราชศรัทธาอันแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนา ขององค์พระมหากษัตริย์ไทย ผู้ทรงเป็นเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภกมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

2) พระราชพิธีทรงตั้งเปรียญธรรม

     การพระราชพิธีสำคัญอีกพระราชพิธีหนึ่ง ที่เนื่องด้วยพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในวันวิสาขบูชานั้น คือ พระราชพิธีทรงตั้งเปรียญธรรม แก่พระภิกษุสงฆ์และสามเณร ซึ่งสอบไล่ได้ประโยคบาลีในสนามหลวง พระราชพิธีนี้ เป็นพระราชภาระแห่งองค์พระมหากษัตริย์ไทยมาแต่โบราณ เป็นการยกย่องแก่พระภิกษุสงฆ์และสามเณร ผู้มีความอุตสาหะเล่าเรียนศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

     ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ก็ได้รับเป็นพระราชภาระธุระ ในการส่งเสริมการศึกษาภาษาบาลี อันเป็นภาษาที่บันทึกพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาตลอดมา โดยพระภิกษุสงฆ์และสามเณร ที่สอบไล่ได้ประโยคบาลีในชั้นใดๆ ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไป จะได้รับพระราชทานพัดยศตั้งสมณศักดิ์สายเปรียญธรรม ได้รับคำยกย่องนำหน้านามประดุจบรรดาศักดิ์ของฝ่ายฆราวาสว่า "พระมหา" และจะได้รับพระราชทานนิตยภัตรเป็นประจำทุกเดือน

     ในอดีต การตั้งเปรียญจะตั้งขึ้น ณ ที่ใด ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจจะเป็น ณ พระที่นั่งองค์ใดก็ได้ ภายในพระบรมมหาราชวังหรือพระราชวัง หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ 9) พระภิกษุสงฆ์และสามเณร ผู้สอบได้เปรียญธรรมตั้งแต่เปรียญธรรม 6 ประโยคขึ้นไป จะได้รับพระราชทานให้เข้ารับพระราชทานผ้าไตรพัดยศตั้งเปรียญธรรม ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในเวลาเย็นของ วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานพัดยศตั้งเปรียญธรรมด้วยพระองค์เอง หรือในบางครั้งอาจจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ หรือผู้แทนพระองค์ประกอบพระราชพิธีทรงตั้งเปรียญธรรมแทนพระองค์

3) พิธีสามัญ

     การประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเนื่องในวันวิสาขบูชาของพุทธศาสนิกชนชาวไทย โดยทั่วไปนิยมทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียนรอบพระอุโบสถ หรือสถูปเจดีย์พุทธสถานต่างๆ ภายในวัด เพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันวิสาขบูชานั่นเอง

     พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมนับถือเอาวันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญในการบำเพ็ญกุศล และปฏิบัติบูชาตามแนวทางพระบรมพุทโธวาท เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั่วไปชาวพุทธในประเทศไทยนิยมตั้งใจไปวัด เพื่อบำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา และเจริญจิตภาวนาในวันนี้ เมื่อตกกลางคืนก็มีการเวียนเทียน ถวายเป็นพุทธบูชาตามอารามต่างๆ และอาจมีการบำเพ็ญปกิณณกะกุศลต่างๆ ตามแต่จะเห็นสมควร

     การประกอบพิธีวันวิสาขบูชาในปัจจุบันนี้ นอกจากการเวียนเทียน ทำบุญตักบาตร ในวันสำคัญแล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐ องค์กรทางศาสนา และภาคประชาชน ร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมากมาย เพื่อเป็นการเผยแพร่พระพุทธศาสนา และประชาสัมพันธ์กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาต่างๆ ให้แก่ประชาชน เช่น กิจกรรมสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนาวันวิสาขบูชา ณ ท้องสนามหลวง หรือตามวัดในจังหวัดต่างๆ เป็นต้น

หลักธรรมในวันวิสาขบูชา >>>

1) ความกตัญญู

     ความกตัญญ หมายถึง การรู้คุณคน เป็นคุณธรรมที่คู่กับความกตเวที ซึ่งหมายถึง การตอบแทนคุณที่มีผู้ทำไว้ ความกตัญญูและความกตเวทีนี้เป็นเครื่องหมายของคนดี ทำให้ครอบครัวและสังคมมีความสุข ซึ่งความกตัญญูกตเวทีนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งบิดามารดาและลูก ครูอาจารย์กับศิษย์ นายจ้างกับลูกจ้าง ฯลฯ เป็นต้น

     ในพระพุทธศาสนา เปรียบพระพุทธเจ้าเสมือนกับบุพการี ผู้ชี้ให้เห็นทางหลุดพ้นแห่งความทุกข์ ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงควรตอบแทนด้วยความกตัญญูกตเวที ด้วยการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และดำรงพระพุทธศาสนาให้อยู่สืบไป

2) อริยสัจ 4

     อริยสัจ 4 หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ ซึ่งก็คือ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่

     2.1) ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์

     2.2) สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งความทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของความทุกข์ คือ ตัณหา ซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆ

     2.3) นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา

     2.4) มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ 8

3) ความไม่ประมาท

     ความไม่ประมาท คือ การมีสติตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ล้วนต้องใช้สติ เพราะสติ คือ การระลึกได้ การระลึกได้อยู่เสมอจะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ซึ่งความประมาทนั้นจะทำให้เกิดปัญหายุ่งยากตามมา

การกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก >>>


ภาพที่ ว2-10  ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่มา : (https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/0/05/UN_General_Assembly_hall.jpg/1024px-UN_General_Assembly_hall.jpg, 2016)

     การกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก เริ่มต้นขึ้นจากการที่ผู้แทนจากประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาพุทธ ได้แก่ บังกลาเทศ จีน ลาว เกาหลีใต้ เวียดนาม ภูฎาน อินโดนีเซีย เนปาล กัมพูชา อินเดีย ปากีสถาน และไทย ได้มีมติร่วมกันที่จะเสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ประกาศรับรองข้อมติกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดของสหประชาชาติ ในการประชุมพุทธศาสนาระหว่างประเทศ (International Buddhist Conference) ณ กรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของประเทศศรีลังกา ระหว่างวันที่ 9-14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541

     ต่อมา คณะทูตถาวรศรีลังกาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก จึงได้จัดเตรียมร่างข้อมติ และได้ขอเสียงสนับสนุนจากประเทศต่างๆ เพื่อให้มีการรับรองข้อมติเรื่อง การประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดของสหประชาชาติ ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 55 แต่คณะผู้แทนจากศรีลังกาเปลี่ยนข้อเสนอให้ประกาศวันวิสาขบูชาเป็น "วันสำคัญสากล" แทน เนื่องจากวันหยุดของสหประชาชาติมีมากแล้ว และจะกระทบต่อการดำเนินงานของสหประชาชาติ และได้ดำเนินการให้คณะผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติจำนวน 16 ประเทศ ได้แก่ ศรีลังกา บังกลาเทศ ภูฎาน กัมพูชา ลาว มัลดีฟส์ มองโกเลีย เมียนมา เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สเปน อินเดีย ไทย และยูเครน ให้ร่วมลงนามในหนังสือถึงประธานที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อนำเรื่องนี้เข้าสู่ระเบียบวาระของการประชุมใหญ่ฯ ต่อไป

     เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ที่ประชุมใหญ่สมัชชาแห่งสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 55 ได้พิจารณาระเบียบวาระที่ 174 ว่าด้วยการยอมรับวันวิสาขบูชาในระดับสากล (International recognition of the Day of Visak) โดยการเสนอของประเทศศรีลังกา ประธานที่ประชุมได้ให้ผู้แทนจากประเทศศรีลังกาเสนอร่างข้อมติ และเชิญให้ผู้แทนจากประเทศไทย สิงคโปร์ บังกลาเทศ ภูฎาน สเปน เมียนมา เนปาล ปากีสถาน อินเดีย ขึ้นแถลง สรุปความได้ดังนี้

     "วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรม และขันติธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของสหประชาชาติ จึงขอให้ที่ประชุมรับรองข้อมตินี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองความสำคัญของพุทธศาสนาในองค์การสหประชาชาติ โดยถือว่า วันดังกล่าวเป็นที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติและที่ทำการสมัชชาจะจัดให้มีการระลึกถึง (observance) ตามความเหมาะสม"

     นายวรวีร์ วีรสัมพันธ์ อุปทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้ให้เหตุผลในถ้อยแถลง โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า "องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษ ผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน"

     ในที่สุด องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็น "วันสำคัญสากล" (ด้วยชื่อวันว่า Vesak) โดยการเสนอของประเทศ
ศรีลังกาดังกล่าว ด้วยมติเอกฉันท์ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2542

บรรณานุกรม (Bibilography) >>>

1) วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2559. กุสินารา. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/กุสินารา. 16 พฤษภาคม 2559
2) วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2559. ลุมพินีวัน. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/ลุมพินีวัน. 16 พฤษภาคม 2559
3) วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2559. พุทธคยา. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/พุทธคยา. 16 พฤษภาคม 2559
4) วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2559. วันวิสาขบูชา. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/วันวิสาขบูชา. 17 พฤษภาคม 2559
5) กระปุกดอทคอม. 2559. วันวิสาขบูชา 2559 ประวัติ ความสำคัญของวันวิสาขบูชา. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://hilight.kapook.com/view/23220. 16 พฤษภาคม 2559

กลับไปยังหน้า "วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา" >>>

หน้าแรก | ความเป็นมา | ข่าวและกิจกรรม | เที่ยวชมวัด | บรรยายธรรม | บทสวดมนต์ | ติดต่อวัด | กลับขึ้นด้านบน
สงวนลิขสิทธิ์ ปี 2559 โดยมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์
จัดทำ ออกแบบและดูแล Website โดย นายรังสิมันตุ์ วงษ์นิกร

Free Web Hosting