เวลาปัจจุบัน

จำนวนผู้เข้าชม

install tracking codes
Visitors Total

ปฏิทิน


บทที่ 6 : ลักษณะการจัดหมวดหมู่ของพระไตรปิฎก >>>


ภาพที่ 6-1  หลักในการจัดหมวดหมู่ของพระไตรปิฎก
ที่มา : (http://image.slidesharecdn.com/random-130928054204-phpapp02/95/-7-638.jpg?cb=1380347034, 2015)

6.1) พระวินัยปิฎก

     พระวินัยปิฎก เป็นประมวลกฎข้อบังคับ เกี่ยวกับความประพฤติของเหล่าพระสงฆ์ ทั้งภิกษุและภิกษุณี นอกเหนือจากนั้น พระวินัยปิฎกยังมีเนื้อหาสะท้อนประวัติศาสตร์ของอินเดียในสมัยพุทธกาลด้วย รวมทั้ง ขนบธรรมเนียมประเพณี และประวัติของบุคคลสำคัญบางคนในยุคนั้นด้วย เช่น ชีวกโกมารภัจจ์ เป็นต้น

     แต่เดิมนั้น พระวินัยปิฎกแบ่งได้เป็น 3 หมวดใหญ่ๆ ได้แก่ หมวดสุตตวิภังค์, หมวดขันธกะ และหมวดปริวาร ต่อมาในภายหลังมีการแบ่งออกเป็น 5 ส่วน และถือเอาเป็นหลักในการจำแนกหมวดพระวินัยมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่

     6.1.1) มหาวิภังค์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับมูลเหตุแห่งการบัญญัติพระวินัย และข้อวินัยของพระสงฆ์ 220 ข้อ กับวิธีพิจารณาข้อพิพาทอีก
7 ข้อ รวมเป็นศีล 227 ข้อ

     6.1.2) ภิกขุนีวังค์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับวินัยของพระภิกษุณี มีวินัย 311 ข้อ

     6.1.3) มหาวรรค แบ่งได้เป็น 10 หมวดย่อย หรือ 10 ขันธกะ มีเนื้อหาเกี่ยวกับกำเนิดภิกษุสงฆ์ และกิจการเกี่ยวกับภิกษุสงฆ์ ได้แก่

          6.1.3.1) มหาขันธกะ

          6.1.3.2) อุโบสถขันธกะ

          6.1.3.3) วัสสูปนายิกาขันธกะ

          6.13.4) ปวารณาขันธกะ

          6.1.3.5) จัมมขันธกะ

          6.1.3.6) เภสัชชขันธกะ

          6.1.3.7) กฐินขันะกะ

          6.1.3.8) จีวรขันธกะ

          6.1.3.9) จัมเปยยขันธกะ

          6.1.3.10) โกสัมพิขันธกะ

     6.1.4) จุลวรรค แบ่งได้เป็น 12 หมวดย่อย หรือ 12 ขันธกะ มีเนื้อหาเกี่ยวกับระเบียบความเป็นอยู่ของภิกษุ ภิกษุณี และเรื่องสังคายนา ได้แก่

          6.1.4.1) กรรมขันธกะ

          6.1.4.2) ปริวาสิกขันธกะ

          6.1.4.3) สมุจจยขันธกะ

          6.1.4.4) สมถขันธกะ

          6.1.4.5) ขุททกวัตถุขันธกะ

          6.1.4.6) เสนาสนขันธกะ

          6.1.4.7) สังฆเภทขันธกะ

          6.1.4.8) วัตตขันธกะ

          6.1.4.9) ปาฏิโมกขัฏฐปนขันธกะ

          6.1.4.10) ภิกขุนีขันธกะ

          6.1.4.11) ปัญจสติกขันธกะ

          6.1.4.12) สัตตสติกขันธกะ

     6.1.5) ปริวาร เป็นหัวข้อปลีกย่อยต่างๆ และคู่มือถามตอบซักซ้อมเกี่ยวกับพระวินัย

6.2) พระสุตตันตปิฎก

     พระสุตตันตปิฎก เป็นที่รวมของพระพุทธพจน์ที่เกี่ยวกับเทศนาธรรม ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาสาระ บุคคล เหตุการณ์ สถานที่ ตลอดจนบทประพันธ์ นิทานชาดก หรือเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า กล่าวโดยรวมก็คือ คำสอนที่ประกอบด้วยองค์ 9 เรียกว่า นวังคสัตถุศาสน์ นั่นเอง นับเป็นธรรมขันธ์ได้ 21,000 พระธรรมขันธ์

     พระสุตตันตปิฎก แบ่งออกเป็นหมวดย่อยได้ 5 หมวดย่อย หรือที่เรียกว่า 5 คัมภีร์ ได้แก่ ทีฆนิกาย, มัชฌิมนิกาย, สังยุตตนิกาย, อังคุตรนิกาย และขุททกนิกาย ใช้อักษรย่อว่า ที ม สัง อัง ขุ อักษรย่อทั้ง 5 คำเหล่านี้เรียกว่า หัวใจพระสูตร

     6.2.1)  ทีฆนิกาย หมายถึง หมวดที่รวบรวมพระสูตรขนาดยาวไว้ส่วนหนึ่ง ไม่ปนกับพระสูตรประเภทอื่นๆ ในหมวดนี้มีพระสูตร
รวมทั้งสิ้น 34 สูตร

     6.2.2) มัชฌิมนิกาย หมายถึง หมวดที่รวบรวมพระสูตรขนาดกลาง ไม่สั้นจนเกินไป และไม่ยาวจนเกินไปไว้ส่วนหนึ่ง ในหมวดนี้มี
พระสูตรรวมทั้งสิ้น 152 สูตร

     6.2.3) สังยุตตนิกาย หมายถึง หมวดประมวล เป็นหมวดที่ประมวลเรื่องประเภทเดียวกันไว้เป็นหมวดหมู่ เช่น เรื่องอินทรีย์ (ธรรมะที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน) เรียกว่า อินทรียสังยุต เป็นต้น ในหมวดนี้มีพระสูตรรวมทั้งสิ้น 7,762 สูตร

     6.2.4) อังคุตรนิกาย หมายถึง หมวดยิ่งด้วยองค์ เป็นหมวดที่จัดลำดับธรรมะไว้เป็นหมวดหมู่ ตามลำดับตัวเลข เช่น หมวดธรรมะข้อเดียว เรียกว่า เอกนิบาต, หมวดธรรมะ 2 ข้อ เรียกว่า ทุกนิบาต, หมวดธรรมะ 3 ข้อ เรียกว่า ติกนิบาต, หมวดธรรมะ 10 ข้อ เรียกว่า
ทสกนิบาต, หมวดธรรมะเกิน 10 ข้อ เรียกว่า อติเรกทสกนิบาต เป็นต้น ในหมวดนี้มีพระสูตรรวมทั้งสิ้น 9,957 สูตร

     6.2.5) ขุททกนิกาย หมายถึง หมวดที่รวบรวมข้อธรรมที่ไม่จัดเข้าใน 4 หมวดข้างต้นมารวมไว้ในหมวดนี้ทั้งหมด แบ่งเป็นหัวข้อใหญ่ได้ทั้งหมด 15 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

          6.2.5.1) ขุททกปาฐะ หมายถึง บทสวดเล็กๆ น้อยๆ ส่วนมากจะเป็นบทสวดสั้นๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

          6.2.5.2) ธรรมบท หมายถึง บทแห่งธรรม เป็นธรรมภาษิตสั้นๆ ประมาณ 300 หัวข้อ

          6.2.5.3) อุทาน หมายถึง คำที่เปล่งออกมา เป็นคำอุทานที่เป็นธรรมภาศิต มีท้องเรื่องประกอบเป็นเหตุปรารภในการเปล่งอุทานของพระพุทธเจ้า

          6.2.5.4) อิติวุตตกะ หมายถึง "ข้อความที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้" เป็นการอ้างอิงว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสข้อความไว้อย่างนี้ ไม่มีเรื่องประกอบ มีแต่ที่ขึ้นต้นว่า "ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ตรัสไว้อย่างนี้"

          6.2.5.5) สุตตนิบาต หมายถึง แหล่งที่รวบรวมพระสูตรเบ็ดเตล็ดต่างๆ ไว้ด้วยกัน มีชื่อสูตรบอกกำกับไว้

          6.2.5.6) วิมานวัตถุ หมายถึง เรื่องของผู้ที่ได้วิมาน แสดงเหตุดีที่ทำให้ได้ผลดี ตามคำบอกเล่าของผู้ที่ได้ผลดีนั้นๆ

          6.2.5.7) เปตวัตถุ หมายถึง เรื่องของเปรตหรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ที่ทำกรรมชั่วเอาไว้

          6.2.5.8) เถรคาถา หมายถึง ภาษิตต่างๆ ของพระเถระผู้เป็นอัครสาวก

          6.2.5.9) เถรีคาถา หมายถึง ภาษิตต่างๆ ของพระเถรีผู้เป็นอัครสาวิกา

          6.2.5.10) ชาดก หมายถึง ภาษิตต่างๆ เกี่ยวกับคำสอนประเภทเล่านิทาน

          6.2.5.11) นิทเทส แบ่งออกได้เป็น มหานิทเทสกับจูฬนิทเทส มหานิทเทสเป็นคำอธิบายพระพุทธภาษิตในสุตตนิบาต (หมายเลข 5) รวม 16 สูตร ส่วนจูฬนิทเทส เป็นคำอธิบายพระพุทธภาษิตในสุตตนิบาต (หมายเลข 5) ว่าด้วยปัญหาของมาณพ 16 คน กับ
ขัคควิสาณสูตร กล่าวกันว่าเป็นภาษิตของพระสารีบุตร

          6.2.5.12) ปฏิสัมภิทามัคค์ หมายถึง ทางแห่งปัญญาอันแตกฉาน เป็นคำอธิบายหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา กล่าวกันว่าเป็นภาษิตของพระสารีบุตร

          6.2.5.13) อปทาน หมายถึง คำอ้างอิง เป็นประวัติส่วนตัวที่แต่ละท่านเล่าไว้ ซึ่งอาจแบ่งได้คือ เป็นอดีตประวัติของพระพุทธเจ้า ของพระเถระอรหันตสาวก ของพระเถรีอรหันตสาวิกา ส่วนที่เป็นประวัติการทำความดีของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น มีคำอธิบายว่า เป็นพุทธภาษิตตรัสเล่าให้พระอานนท์ฟัง

          6.2.5.14) พุทธวังส หมายถึง วงศ์ของพระพุทธเจ้า เป็นการแสดงประวัติของพระพุทธเจ้าในอดีต 24 องค์ รวมทั้งของ
พระโคตมพุทธเจ้าด้วยจึงเป็น 25 องค์ นอกจากนั้นมีเรื่องเบ็ดเตล็ดแทรกเล็กน้อย

          6.2.5.15) จริยาปิฎก หมายถึง คัมภีร์แสดงจริยา คือการบำเพ็ญบารมีต่างๆ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งแบ่งออกเป็น ทาน (การให้) ศีล (การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย) และเนกขัมมะ (การออกบวช) 

6.3) พระอภิธรรมปิฏก

     คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น แต่เดิมเรียกว่า ธรรมวินัย ยังมิได้แยกเป็นปิฎก 3 ปิฎก ดังพระพุทธวจนะที่ว่า "ธรรมและวินัยใดที่เราตถาคตแสดงไว้แล้ว บัญญัติไว้แล้ว ธรรมและวินัยนั้นจะเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อเราตถาคตล่วงลับไปแล้ว" ต่อมาในการสังคายนาครั้งที่ 3 พระธรรมวินัยได้แบ่งออกเป็น 3 ปิฎก ได้แก่ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก

     อรรถกาอัตถสาลินี อันเป็นอรรถกาที่อธิบายคัมภีร์สังคณีแห่งพระอภิธรรมปิฎก และอรรถกาธัมมปทัฏฐกถา อันเป็นอรรถกถาที่อธิบายคัมภีร์ธรรมบทแห่งพระสุตตันตปิฎก ได้กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จขึ้นไปเทศน์พระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพรรษาที่ 7 หลังจากทรงตรัสรู้ และได้ทรงถ่ายทอดพระอภิธรรมนั้นแก่พระสารีบุตรในเวลาต่อมา

     มีผู้สันนิษฐานว่า พระอภิธรรมปิฎก เป็นของที่แต่งขึ้นมาใหม่ โดยมีเหตุผลดังนี้

     เหตุผลที่ 1 : สำนวนในการเขียนพระอภิธรรมปิฎกเป็นภาษาหนังสือ ซึ่งแตกต่างจากสำนวนภาษาในพระวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎก

     เหตุผลที่ 2 : หลักมหาปเทส ให้สาวกเทียบเคียงความถูกต้องกับพระสูตรและพระวินัย ไม่ปรากฎว่าให้เทียบเคียงกับพระอภิธรรมปิฎกเลย

     เหตุผลที่ 3 : เรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดาที่ดาวดึงส์ ไม่ปรากฏในพระสูตรและพระวินัย

     เหตุผลที่ 4 : คำว่า อภิธมฺเม ที่ปรากฏในพระสูตรบางแห่งหมายถึง โพธิปักขิยธรรม

     เหตุผลที่ 5 : พระพุทธเจ้าตรัสกับสาวกว่า ธมฺโม จ วินโย จ หมายถึง พระธรรมกับพระวินัยเท่านั้น ที่ให้เป็นศาสดาแทนพระองค์ต่อไป

     เหตุผลที่ 6 : ยญฺจ โข ภควตา ชานตา ปสฺสตา หมายถึง พระผู้มีพระภาคเจ้ารู้อยู่ เห็นอยู่ และ วุตฺตญฺเจตํ ภควตา หมายถึง
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดังนี้ เป็นสำนวนของพระสังคีติกาจารย์

     เหตุผลที่ 7 : นิกายสรวาสติวาทิน (นิกายอภิธรรม) ถือว่าพระอภิธรรมปิฎกเป็นสาวกภาษิต

     พระอภิธรรมปิฎกนั้นแบ่งออกเป็น 7 คัมภีร์ ซึ่งเรียกย่อว่า สํ. วิ. ธา. ปุ. ก. ย. และ ป. ตามลำดับ ซึ่งเนื้อหาทั้ง 7 คัมภีร์นั้น มีดังต่อไปนี้

     6.3.1) ธัมมสังคณี หรือธัมมสังคณี (อักษรย่อ : "สํ.") หมายถึง การรวมข้อธรรมต่างๆ เข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายทีละประเภท

     6.3.2) วิภังค์ (อักษรย่อ : "วิ.") หมายถึง การยกหมวดธรรมขึ้นตั้งเป็นหัวข้อเรื่อง แล้วแยกแยะออกมาอธิบายชี้แจงวินิจฉัยอย่างละเอียดอีกที

     6.3.3) ธาตุกถา (อักษรย่อ : "ธา.") หมายถึง การสังเคราะห์หรือจัดประเภทข้อธรรมต่างๆ เข้าเป็นหมวดหมู่ดังต่อไปนี้ คือ ขันธ์ อายตนะ และธาตุ

     6.3.4) ปุคคลบัญญัติ (อักษรย่อ : "ปุ.") หมายถึง บัญญัติความหมายบุคคลประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่

     6.3.5) กถาวัตถุ (อักษรย่อ : "ก.") หมายถึง การแถลงและวินิจฉัยทัศนะที่ขัดแย้งกันของนิกายต่างๆ ในสมัยการสังคายนาครั้งที่ 3 โดยเน้นความถูกต้องของฝ่ายเถรวาท ซึ่งคัมภีร์นี้เป็นบทนิพนธ์ของพระโมคคลีบุตรติสสะเถระ

     6.3.6) ยมก (อักษรย่อ : "ย.") หมายถึง การยกหัวข้อธรรมขึ้นมาวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ

     6.3.7) ปัฏฐาน หรือมหาปกรณ์ (อักษรย่อ : "ป.") หมายถึง การอธิบายปัจจัย 24 และแสดงความสัมพันธ์ระหว่างหลักธรรมทั้งหลายอย่างละเอียด

บรรณานุกรม (Bibilography) >>>

1) วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2558. พระวินัยปิฎก. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/พระวินัยปิฎก. 30 ธันวาคม 2558
2) วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2558. พระสุตตันตปิฎก. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/พระสุตตันตปิฎก. 30 ธันวาคม 2558
3) วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2558. พระอภิธรรมปิฎก. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/พระอภิธรรมปิฎก. 30 ธันวาคม 2558
4) พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. 2558. ลักษณะการจัดหมวดหมู่ของแต่ละปิฎก พระสุตตันตปิำฎก. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.baanjomyut.com/pratripidok/prasudtanpidok/index.html. 30 ธันวาคม 2558

กลับไปยังหน้า "พระไตรปิฎก" >>>

หน้าแรก | ความเป็นมา | ข่าวและกิจกรรม | เที่ยวชมวัด | บรรยายธรรม | บทสวดมนต์ | ติดต่อวัด | กลับขึ้นด้านบน
สงวนลิขสิทธิ์ ปี 2559 โดยมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์
จัดทำ ออกแบบและดูแล Website โดย นายรังสิมันตุ์ วงษ์นิกร

Free Web Hosting