เวลาปัจจุบัน

จำนวนผู้เข้าชม

install tracking codes
Visitors Total

ปฏิทิน


วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา : วันธรรมสวนะ (วันพระ) (Buddhism Days : Buddhist Holy Days) >>>


ภาพที่ ว7-1  การทำบุญตักบาตร ณ กรุงเวียนจันทน์ ประเทศลาว
ที่มา : (https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/d/d9/Making_merit_Buddhist_holy_day_in_Vientiane.jpg, 2016)

     วันพระ หรือวันธรรมสวนะ หรือวันอุโบสถ หมายถึง วันประชุมของพุทธศาสนิกชน เพื่อปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาในพระพุทธศาสนาประจำสัปดาห์ หรือที่เรียกกันทั่วไปอีกคำหนึ่งว่า "วันธรรมสวนะ" อันได้แก่ วันถือศีลฟังธรรม (ธรรมสวนะ หมายถึง การฟังธรรม) โดยวันพระเป็นวันที่มีกำหนดตามปฏิทินจันทรคติ โดยมีเดือนละ 4 วัน ได้แก่ วันขึ้น 8 ค่ำ, วันขึ้น 15 ค่ำ (วันเพ็ญ), วันแรม 8 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด ถือเอาวันแรม 14 ค่ำ)

     วันพระนั้น แต่เดิมเป็นธรรมเนียมของปริพาชกอัญญเดียรถีย์ (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) ที่จะประชุมกันแสดงธรรมทุกๆ วัน 8 ค่ำ และ 15 ค่ำ ซึ่งในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังคงไม่ได้ทรงวางระเบียบในเรื่องนี้ไว้ ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลพระราชดำริของพระองค์ว่า "นักบวชศาสนาอื่นมีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของเขา แต่ว่าพุทธศาสนายังไม่มี" พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้มีการประชุมพระสงฆ์ในวัน 8 ค่ำ, 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ และอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ประชุมสนทนาและแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันดังกล่าว โดยตามพระไตรปิฎกเรียกวันพระว่า วันอุโบสถ (วัน 8 ค่ำ) หรือวันลงอุโบสถ (วัน 14 หรือ 15 ค่ำ) แล้วแต่กรณี

     หลังจากนั้น พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันธรรมสวนะสืบต่อกันมา โดยจะเป็นวันสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะไปประชุมกัน ฟังพระธรรมเทศนาจากพระสงฆ์ที่วัด ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่า ได้มีประเพณีวันพระมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

     วันพระในปัจจุบัน คงเหลือธรรมเนียมปฏิบัติอยู่แต่เฉพาะประเทศที่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท เช่น ศรีลังกา, เมียนมา, ไทย, ลาว และกัมพูชา (ในอดีตประเทศเหล่านี้ถือวันพระเป็นวันหยุดราชการ) โดยพุทธศาสนิกชนเถรวาทนับถือว่า วันนี้เป็นวันสำคัญที่จะถือโอกาสไปวัด เพื่อทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์และฟังพระธรรมเทศนา สำหรับผู้ที่เคร่งครัดในพระพุทธศาสนาอาจถือศีล 8 หรือศีลอุโบสถ ในวันพระด้วย นอกจากนี้ชาวพุทธยังถือว่า วันพระไม่ควรทำบาปใดๆ โดยเชื่อกันว่า การทำบาปหรือไม่ถือศีล 5 ในวันพระถือว่า เป็นบาปมากกว่าในวันอื่น

     ในประเทศไทย หลังจากวันพระได้ถูกยกเลิกไม่ให้เป็นวันหยุดราชการ ทำให้วันพระที่กำหนดวันตามปฏิทินจันทรคติส่วนใหญ่ ไม่สอดคล้องกับปฏิทินที่ใช้กันอยู่ทั่วไป (เช่น วันพระไปตรงกับวันทำงานปกติ) ซึ่งคือ หนึ่งในสาเหตุสำคัญในปัจจุบันที่ทำให้พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยห่างจากการเข้าวัด เพื่อทำบุญในวันพระ

     นอกจากนี้ ในประเทศไทยยังมีคำเรียกวันก่อนวันพระ 1 วันว่า วันโกน เพราะปกติในวันขึ้น 14 ค่ำปกติ ก่อนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เป็นธรรมเนียมของพระสงฆ์ในประเทศไทยที่จะโกนผมในวันนี้

ประวัติความเป็นมาของวันธรรมสวนะ (วันพระ) >>>

     ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสารได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลว่า "นักบวชศาสนาอื่นเขามีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของเขา แต่ว่าในศาสนาพุทธยังไม่มี" พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์ประชุมสนทนาและแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวัน 8 ค่ำ 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันธรรมสวนะ เพื่อกำหนดให้มีการประชุม
พร้อมเพรียงกันฟังธรรม

     ในสมัยพุทธกาลนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมพระสงฆ์สาวก เพื่อทรงสั่งสอนธรรม การประชุมสงฆ์ซึ่งเป็นสาวกของพระพุทธองค์นั้นก็ได้นัดหมายไปประชุมกัน และจะมีพระสงฆ์รูปหนึ่งเป็นผู้สวดพระปาฏิโมกข์ พระภิกษุทุกรูปก็จะนั่งฟังด้วยอาการอันสำรวม และตั้งใจฟังจนกระทั่งจบ

     คำว่า "สวนะ" หมายถึง การฟัง และคำว่า "ธรรมสวนะ" หมายถึง การฟังธรรม ดังนั้น คำว่า "วันธรรมสวนะ" จึงมีความหมายว่า กำหนดประชุมฟังธรรม หรือพูดตามภาษาชาวบ้านทั่วไปว่า วันไปฟังเทศน์หรือวันพระ ในทางศาสนาก็ยังได้เรียกว่า วันอุโบสถ หมายถึง วันจำศีลของอุบาสกอุบาสิกา ผู้ต้องการบุญกุศลเป็นกรณีพิเศษ โดยทั่วไป พุทธศาสนิกชนก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ถวายอาหารหวานคาวแด่พระสงฆ์ สมาทานศีล (รับศีล) และฟังพระธรรมเทศนาที่วัด


ภาพที่ ว7-2  การฟังพระธรรมเทศนาที่วัด เนื่องในวันธรรมสวนะ (วันพระ)
ที่มา : (http://www.watpho.com/uploads/detail_a833572aa9f672d426dc12555f3b444d.jpg, 2015)

     ในวันธรรมสวนะนี้ ชาวบ้านก็จะละเว้นการประพฤติกิจที่เป็นบาปต่างๆ การสมาทานศีลในวันนี้ เช่น รับศีล 5 หรือศีล 8 ซึ่งเรียกว่า อุโบสถศีล พระสงฆ์จะได้แสดงพระธรรมเทศนา หรือธรรมสากัจฉา หรือสนทนาธรรมกัน ซึ่งนับว่า เกิดเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง

กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันพระ >>>

     สิ่งที่พุทธศาสนิกชนพึงกระทำในวันพระ คือ การถือศีลอุโบสถ (ศีล 8 ที่อาราธนาในวันพระเป็นเวลา 1 วัน 1 คืน หรือ 3 วัน 3 คืน และไม่จำเป็นต้องอยู่วัด) อย่างเคร่งครัด พุทธศาสนิกชนทั้งหลายพึงสวดมนต์ ทำสมาธิ นั่งฌาน ในเวลาว่างด้วย เพื่อการเข้าถึงซึ่งพระนิพพาน

ประเภทของวันธรรมสวนะ >>>

1) วันอัฏฐมี (วันพระธรรมดา 8 ค่ำ)

     วันอัฏฐมี หรือวัน 8 ค่ำ ใช้เรียกทั้งข้างขึ้นและข้างแรม เรียกเต็มๆ ว่า วันอัฏฐมีดิถี โดยปกติแล้ว วันอัฏฐมีจะใช้ในการประกาศองค์อุโบสถในวันพระ ซึ่งหัวหน้าอุบาสกหรืออุบาสิกาจะประกาศก่อนที่จะรับศีลอุโบสถจากพระว่า

     “ขอประกาศเริ่มเรื่องความที่จะสมาทานรักษาอุโบสถ อันพร้อมไปด้วยองค์แปดประการ ให้สาธุชนที่ได้ตั้งจิตสมาทานทราบทั่วกันก่อนแต่สมาทาน ณ บัดนี้ ด้วยวันนี้เป็นอัฏฐมี ดิถีที่สิบสี่ แห่งกาฬปักษ์มาถึงแล้ว ก็แหละวันเช่นนี้ เป็นกาลที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติแต่งตั้งไว้ให้ประชุมกัน ฟังธรรม และเป็นกาลที่จะรักษาอุโบสถของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย...”

2) วันจาตุทสี (วันพระใหญ่ 14 ค่ำ)

     วันจาตุทสี (อ่านว่า จา-ตุด-ทะ-สี) หมายถึง ดิถีเป็นที่เต็ม 14 วัน คือ วัน 14 ค่ำ ใช้เรียกทั้งข้างขึ้นและข้างแรม เรียกเต็มๆ ว่า จาตุทสีดิถี โดยปกติแล้ว วันจาตุทสีจะใช้ในการประกาศองค์อุโบสถในวันพระ ซึ่งหัวหน้าอุบาสกหรืออุบาสิกาจะประกาศก่อนที่จะรับศีลอุโบสถจากพระว่า

     “ขอประกาศเริ่มเรื่องความที่จะสมาทานรักษาอุโบสถ อันพร้อมไปด้วยองค์แปดประการ ให้สาธุชนที่ได้ตั้งจิตสมาทานทราบทั่วกันก่อนแต่สมาทาน ณ บัดนี้ ด้วยวันนี้เป็นจาตุทสี ดิถีที่สิบสี่ แห่งกาฬปักษ์มาถึงแล้ว ก็แหละวันเช่นนี้ เป็นกาลที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติแต่งตั้งไว้ให้ประชุมกัน ฟังธรรม และเป็นกาลที่จะรักษาอุโบสถของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย...”

3) วันปัณรสี (วันพระใหญ่ 15 ค่ำ)

     วันปัณรสี หมายถึง ดิถีเป็นที่เต็ม 15 วัน คือ วัน 15 ค่ำ ใช้เรียกทั้งข้างขึ้นและข้างแรม เรียกเต็มๆ ว่า ปัณรสีดิถี โดยปกติแล้ว วันปัณรสีจะใช้ในการประกาศองค์อุโบสถในวันพระ ซึ่งหัวหน้าอุบาสกหรืออุบาสิกาจะประกาศก่อนที่จะรับศีลอุโบสถจากพระว่า

     “ขอประกาศเริ่มเรื่องความที่จะสมาทานรักษาอุโบสถ อันพร้อมไปด้วยองค์แปดประการ ให้สาธุชนที่ได้ตั้งจิตสมาทานทราบทั่วกันก่อนแต่สมาทาน ณ บัดนี้ ด้วยวันนี้เป็นปัณรสี ดิถีที่สิบสี่ แห่งกาฬปักษ์มาถึงแล้ว ก็แหละวันเช่นนี้ เป็นกาลที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติแต่งตั้งไว้ให้ประชุมกัน ฟังธรรม และเป็นกาลที่จะรักษาอุโบสถของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย...”

บรรณานุกรม (Bibilography) >>>

1) วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2559. จาตุทสี. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/จาตุทสี. 11 พฤษภาคม 2559
2) วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2559. วันปัณรสี. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/วันปัณรสี. 11 พฤษภาคม 2559
3) วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2559. วันพระ. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/วันพระ. 11 พฤษภาคม 2559
4) วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2559. วันอัฏฐมี. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/วันอัฏฐมี. 11 พฤษภาคม 2559

กลับไปยังหน้า "วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา" >>>

หน้าแรก | ความเป็นมา | ข่าวและกิจกรรม | เที่ยวชมวัด | บรรยายธรรม | บทสวดมนต์ | ติดต่อวัด | กลับขึ้นด้านบน
สงวนลิขสิทธิ์ ปี 2559 โดยมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์
จัดทำ ออกแบบและดูแล Website โดย นายรังสิมันตุ์ วงษ์นิกร

Free Web Hosting