เวลาปัจจุบัน

จำนวนผู้เข้าชม

install tracking codes
Visitors Total

ปฏิทิน


วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา : วันออกพรรษา (Buddhism Days : End of Buudhist Lent Day) >>>


ภาพที่ ว5-1  พระสงฆ์ออกจาริกเพื่อปฏิบัติธรรม และโปรดพุทธศาสนิกชนตามสถานที่ต่างๆ
ที่มา : (https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/9/9e/Pu_pan.jpg, 2016)

     วันออกพรรษา หรือ วันปวารณาออกพรรษา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา
จำพรรษา 3 เดือนของพระสงฆ์ โดยเป็นวันที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรมปวารณาออกพรรษาในวันนี้ วันออกพรรษาตามปกติ (ออกปุริมพรรษา 1) จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (ประมาณเดือนตุลาคม) หลังวันเข้าพรรษา 3 เดือน ตามปฏิทินจันทรคติไทย

     การออกพรรษานั้น ถือเป็นข้อปฏิบัติตามพระวินัยสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะ เรียกว่า "ปวารณา" จัดเป็นญัตติกรรมวาจาสังฆกรรมประเภทหนึ่ง ที่ถูกกำหนดโดยพระวินัยบัญญัติ ให้โอกาสแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอดไตรมาส สามารถว่ากล่าวตักเตือนและชี้
ข้อบกพร่องแก่กันและกันได้โดยเสมอภาค ด้วยจิตที่ปรารถนาดีซึ่งกันและกัน เพื่อสามารถให้พระสงฆ์ที่ถูกตักเตือนมีโอกาสรับรู้ข้อบกพร่องของตน และสามารถนำข้อบกพร่องไปแก้ไขปรับปรุงตัวให้ดียิ่งขึ้น


ภาพที่ ว5-2  พระพุทธเจ้า ทรงแสดงโลกวิวรณปาฏิหาริย์เปิดโลกทั้ง 3
ที่มา : (http://scoop.mthai.com/wp-content/uploads/2011/02/t1511.jpg, 2016)

     เมื่อถึงวันออกพรรษา ถือเป็นโอกาสอันดีที่พุทธศาสนิกชนจะเข้าวัด เพื่อบำเพ็ญกุศลแก่พระสงฆ์ ที่ตั้งใจจำพรรษาและตั้งใจปฏิบัติธรรมมาตลอดจนครบไตรมาสพรรษากาลในวันนี้ และวันถัดจากวันออกพรรษา 1 วัน (แรม 1 ค่ำ เดือน 11) พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยยังนิยมไปทำบุญตักบาตรครั้งใหญ่ เรียกว่า ตักบาตรเทโว หรือ ตักบาตรเทโวโรหณะ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติที่กล่าวว่า ในวันถัดจากวันออกพรรษา 1 วัน พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงจากเทวโลก กลับจากการโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพรรษาที่ 7 เพื่อลงมายังเมืองสังกัสสนคร พร้อมกับทรงแสดงโลกวิวรณปาฏิหาริย์เปิดโลกทั้ง 3 ด้วย

     นอกจากนี้ ช่วงเวลาออกพรรษาตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ถือเป็นเวลากฐินกาลตามพระวินัยปิฎกเถรวาท เป็นช่วงเวลาที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยจะเข้าร่วมบำเพ็ญกุศล เนื่องในงานกฐินประจำปีในวัดต่างๆ ด้วย โดยถือว่า เป็นงานบำเพ็ญกุศลที่ได้บุญกุศลมากอีกงานหนึ่ง

ความสำคัญของวันออกพรรษา >>>

     วันออกพรรษา คือ วันที่สิ้นสุดระยะการจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน (นับตั้งแต่วันเข้าพรรษา) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันมหาปวารณา" โดยคำว่า "ปวารณา" หมายถึง อนุญาต หรือยอมให้

     ในวันออกพรรษา พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรมใหญ่ที่เรียกว่า มหาปวารณา ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้พระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ เนื่องจากในระหว่างที่เข้าพรรษาอยู่ด้วยกัน พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข และการให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนก็จะทำให้รู้ข้อบกพร่องของตน อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันได้ด้วย พระผู้ใหญ่ก็กล่าวตักเตือนพระผู้น้อยได้ และพระผู้มีอาวุโสน้อยก็สามารถชี้แนะถึงข้อไม่ดีของพระผู้ใหญ่ได้เช่นกัน แม้พระผู้ใหญ่จะมีอาวุโสมากกว่า แต่ท่านก็มิได้สำคัญตนผิด คิดว่าท่านทำอะไรแล้วถูกไปหมดทุกอย่าง เพื่อเป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นวิธีการคอยสังวร คือ ตามระวัง ไม่ประมาท ไม่ยอมให้ความเลวร้ายเกิดขึ้นได้ เหมือนล้อมรั้วไว้ก่อนที่วัวจะหาย ไม่ว่าจะอยู่ในเทศกาลเข้าพรรษาหรือออกพรรษา พระท่านจะประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ตามระบอบของพระธรรมวินัยอยู่ตลอดเวลา

     สำหรับคำกล่าวปวารณา มีคำกล่าวเป็นภาษาบาลีดังนี้ "สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วาปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิ" มีความหมายว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียใหม่ให้ดี

1) อานิสงส์การจำพรรษาของพระสงฆ์ที่จำครบพรรษา

     เมื่อพระสงฆ์จำพรรษาครบไตรมาส ได้ปวารณาออกพรรษาและได้กรานกฐินแล้ว ย่อมได้รับอานิสงส์ หรือข้อยกเว้นพระวินัย 5 ข้อ ได้แก่

     1.1) เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา (ออกจากวัดไปโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งเจ้าอาวาส หรือพระสงฆ์รูปอื่นก่อนได้)

     1.2) เที่ยวไปไม่ต้องถือไตรจีวรครบสำรับ 3 ผืน

     1.3) ฉันคณะโภชน์ได้ (ล้อมวงฉันได้)

     1.4) เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา (ยกเว้นสิกขาบทข้อนิสสัคคิยปาจิตตีย์บางข้อ)

     1.5) จีวรลาภอันเกิดในที่นั้นเป็นของภิกษุ (เมื่อมีผู้มาถวายจีวรเกินกว่าไตรครอง สามารถเก็บไว้ได้โดยไม่ต้องสละเข้ากองกลาง)

ประเพณีเนื่องด้วยการออกพรรษาในประเทศไทย >>>

1) ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ


ภาพที่ ว5-3  ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ
ที่มา : (http://travel.mthai.com/wp-content/uploads/2014/10/1397528_659366144093990_1414455577_o.jpg, 2014)

     เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงสู่โลก หลังจากเสด็จขึ้นไปจำพรรษาอยู่ในดาวดึงส์พิภพ และการตรัสอภิธรรมเทศนาโปรดพระมารดาในเทวโลกนั้นมาตลอดเวลา 3 เดือน พออออกพรรษาแล้ว ก็เสด็จมายังโลกมนุษย์ โดยเสด็จมาทางบันไดสวรรค์ที่ประตูเมืองสังกัสนคร อันตั้งอยู่เหนือกรุงสาวัตถี วันที่เสด็จลงจากเทวโลกนั้นเรียกกันว่า “วันเทโวโรหณะ“ ตรงกับวันมหาปวารณาเพ็ญเดือน 11 วันนั้นถือกันว่า เป็นวันบุญกุศลที่สำคัญวันหนึ่งของพุทธศาสนิกชน โบราณเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ”วันพระเจ้าเปิดโลก” รุ่งขึ้นจากวันนั้นเป็นวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 จึงมีการทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะกันเป็นการใหญ่ เพื่อเฉลิมฉลองการเสด็จลงจากเทวโลกของพระพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนจึงได้พร้อมใจกันใส่บาตรแด่พระสงฆ์ที่อยู่ทั้งหมดในที่นั้น กับทั้งพระพุทธองค์ด้วยโดยไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน ภัตตาหารที่ถวายในวันนั้นส่วนใหญ่เป็นเสบียงกรัง ของตนตามมีตามได้ ปรากฏว่าได้มีการใส่บาตรในวันนั้นแออัดมาก ผู้คนเข้าไม่ถึงพระสงฆ์จึงเอาข้าวสาลีของตนห่อบ้าง ทำเป็นปั้นๆ บ้างแล้วโยนเข้าถวายพระสงฆ์ นี่เองจึงเป็นเหตุหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนนิยมทำข้าวต้มลูกโยน เป็นส่วนสำคัญของการตักบาตรเทโวโรหณะ เป็นประเพณีว่าถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ทุกๆ ปี ควรทำบุญตักบาตรให้เหมือนครั้งดั้งเดิม จึงเรียกว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ จนทุกวันนี้

     พิธีตักบาตรเทโวโรหณะ ในปัจจุบันนั้นจะเริ่มตั้งแต่ตอนรุ่งอรุณ หลังวันออกพรรษา พระภิกษุสามเณรลงทำวัตรในพระอุโบสถ พอพระอาทิตย์ขึ้นก็สมมติว่า พระลงมาจากบันไดสวรรค์ บางที่ก็มีดนตรีบรรเลงเพลงไทยเดิม สมมติว่าเป็นพวกเทวดาบรรเลง ขับกล่อมตามส่งพระพุทธเจ้า ยังมีพวกแฟนตาซีอีก แต่งเป็นพวกยักษ์ เทวดา พระอินทร์ พรหม นางเทพธิดา นำหน้าขบวนพระภิกษุสามเณร ชาวบ้านก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัด จึงเป็นสัญลักษณ์ของพิธีนี้

2) ประเพณีเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก


ภาพที่ ว5-4  ประเพณีเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก
ที่มา : (http://www.มหัศจรรย์เมืองสยาม.com/upload/files/181fe8eef8575c09.jpg, 2012)

     การเทศน์มหาชาติ คือ เทศนาเวสสันดรชาดก เป็นบุญพิธีที่นิยมจัดให้มีกันมาแต่โบราณ ส่วนมากจัดให้มีในวัด เป็นหน้าที่ของชาวบ้านและวัดนั้นๆ จะตกลงร่วมกันจัด ปกตินิยมจัดกันหลังฤดูทอดกฐินผ่านไปแล้วจนตลอดฤดูเหมันต์ นิยมจัดเป็นงาน 2 วัน คือ วันเทศน์เวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์ และวันเทศน์จตุราริยสัจจกถา ท้ายเวสสันดรชาดก

     วันแรกเริ่มงานด้วยพิธีทำบุญตักบาตรพระทั้งวัด หรือเลี้ยงพระตามจำนวนที่เห็นสมควร แล้วเริ่มเทศน์เวสสันดรชาดก ตามแบบเทศน์ต่อกันไปจนสิ้นสุดทั้ง 13 กัณฑ์ จนถึงเวลากลางคืน บางแห่งจัดปี่พาทย์ประโคมระหว่างกัณฑ์หนึ่งๆ ตลอดทั้ง 13 กัณฑ์ด้วย

     งานเทศน์มหาชาติ นิยมทำกันหลังวันออกพรรษา พ้นหน้ากฐินไปแล้ว ซึ่งกฐินจะทำกัน 1 เดือนหลังออกพรรษา ที่จะร่วมกันทอดกฐินทั้ง จุลกฐิน และมหากฐิน โดยประเพณีงานเทศน์มหาชาติอาจทำในวันขึ้น 8 ค่ำ กลางเดือน 12 หรือในวันแรม 8 ค่ำ ก็ได้ เพราะในช่วงนี้น้ำเริ่มลดและข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์ จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทานและเล่นสนุกสนานรื่นเริง แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นนิยมทำกันในเดือน 4 เรียกว่า "งานบุญพระเวส" ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จจากการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง ในภาคกลางบางท้องถิ่นทำกันในเดือน 5 ต่อเดือน 6 ก็มี

     งานเทศน์มหาชาตินั้นจะทำในเดือนไหนก็ได้ไม่จำกัดฤดูกาล โดยมากเพื่อเป็นการหาเงินเข้าวัด บางแห่งนิยมทำในเดือน 10 โดยการเทศน์มหาชาตินั้น มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 13 กัณฑ์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดร อันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และออกบวชจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

3) ประเพณีถวายผ้าพระกฐิน


ภาพที่ ว5-4  ประเพณีถวายผ้าพระกฐิน
ที่มา : (http://www.oknation.net/blog/home/user_data/file_data/201311/09/13613b2fc.jpg, 2013)

     ประเพณีถวายผ้าพระกฐิน เป็นประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง โดยมีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ การถวายผ้าพระกฐินของพระมหากษัตริย์จัดเป็นพระราชพิธีที่สำคัญประจำปี ในปัจจุบัน การถวายผ้าพระกฐินในแง่การสนับสนุนผ้าไตรจีวร เพื่อใช้ในสังฆกรรมสำคัญของคณะสงฆ์ ได้ถูกลดความสำคัญลงไป แต่กลับให้ความสำคัญกับบริวารของกฐินทานแทน เช่น เงิน หรือวัตถุสิ่งของ เพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาถาวรวัตถุ และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งจัดเป็นสังฆทานอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน

     กฐินมีกำหนดระยะเวลาถวาย จะถวายตลอดไปเหมือนผ้าชนิดอื่นมิได้ ระยะเวลานั้นมีเพียง 1 เดือนคือ ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (วันเพ็ญเดือน 12) ระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล คือ ระยะเวลาทอดกฐิน หรือเทศกาลทอดกฐิน

     คำว่า กฐิน หมายถึง ไม้สะดึง คือ กรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณ การเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อนแล้วจึงเย็บ เพราะช่างยังไม่มีความชำนาญ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอ การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าพระภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริก ดังเช่นตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่าพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย ภิกษุสามเณรอื่นๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่ม เป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์

ประเพณีวันออกพรรษาในแต่ละภาคของประเทศไทน >>>

1) ประเพณีวันออกพรรษา ประจำภาคกลาง


ภาพที่ ว5-5  ประเพณีตักบาตรเทโว ประจำจังหวัดอุึทัยธานี
ที่มา : (http://travel.mthai.com/wp-content/uploads/2014/10/73.jpg, 2014)

     1.1) จังหวัดนครปฐม ที่พระปฐมเจดีย์ พระภิกษุสามเณรจะมารวมกันที่องค์พระปฐมเจดีย์ แล้วเดินลงมาจากบันไดนาคหน้าวิหารพระร่วง สมมติว่าพระเดินลงมาจากบันไดสวรรค์ ชาวบ้านก็คอยใส่บาตร

     1.2) จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ณ วัดสะแกกรัง พระภิกษุจะเดินลงมาจากเขา รับบิณฑบาตจากชาวบ้าน โดยขบวนพระภิกษุสงฆ์ที่ลงมาจากบันไดนั้นนิยมให้มีพระพุทธรูปนำหน้า ทำการสมมติว่าเป็นพระพุทธเจ้า จะใช้พระปางอุ้มบาตร ห้ามมาร ห้ามสมุทร รำพึง ถวายเนตรหรือปางลีลา ตั้งไว้บนรถหรือตั้งบนคานหาม มีที่ตั้งบาตรสำหรับอาหารบิณฑบาต

     แต่สำหรับบางที่ไม่นิยมตักบาตรเทโว จะนิยมตักบาตรตอนเช้า ถวายอาหารพระภิกษุแล้วฟังเทศน์รักษาอุโบสถศีล ส่วนที่นิยมตักบาตรเทโว จะทำบุญเป็น 2 วัน คือ วันออกพรรษากับวันเทโว ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ในวันออกพรรษานั้น หรือในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ก็มีการฟังเทศน์ตอนสายๆ และรักษาอุโบสถศีล

2) ประเพณีวันออกพรรษา ประจำภาคใต้


ภาพที่ ว5-6  ประเพณีชักพระทางบก
ที่มา : (http://www.trangzone.com/upload/webboard/36446_0.jpg, 2016)

     2.1) พิธีชักพระทางบก ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนวันชักพระ 2 วัน จะมีพิธีใส่บาตรหน้าล้อ นอกจากอาหารคาวหวานแล้ว ยังมีสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของงาน คือ "ปัด" หรือข้าวต้มผัดน้ำกะทิห่อด้วยใบมะพร้าว บางที่ห่อด้วยใบกะพ้อ (ปาล์มชนิดหนึ่ง) ในภาคกลางจะเรียกว่า ข้าวต้มลูกโยน ก่อนจะถึงวันออกพรรษา 1-2 สัปดาห์ ทางวัดจะทำเรือบก คือ เอาท่อนไม้ขนาดใหญ่ 2 ท่อน มาทำเป็นพญานาค 2 ตัว เป็นแม่เรือที่ถูกยึดไว้อย่างแข็งแรง แล้วปูกระดาน วางบุษบก อัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขึ้นประดิษฐานบนบุษบก รอบบุษบกก็วางเครื่องดนตรีไว้บรรเลง เวลาเคลื่อนพระไปสู่บริเวณงาน ในเช้าวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านจะช่วยกันชักพระ โดยถือเชือกขนาดใหญ่ 2 เส้นที่ผูกไว้กับพญานาคทั้ง 2 ตัว เมื่อถึงบริเวณงานจะมีการสมโภช และมีการเล่นกีฬาพื้นเมืองต่างๆ กลางคืนมีงานฉลองอย่างมโหฬาร การชักพระที่จังหวัดปัตตานีก็จะมีชาวอิสลามร่วมด้วย


ภาพที่ ว5-7  ประเพณีชักพระทางน้ำ
ที่มา : (http://www.bloggang.com/data/walk-with-camera/picture/1193547812.jpg, 2016)

     2.2) พิธีชักพระทางน้ำ ก่อนถึงวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ทางวัดที่อยู่ริมน้ำ ก็จะเตรียมการต่างๆ โดยการนำเรือมา 2-3 ลำ มาปูด้วยไม้กระดาน เพื่อตั้งบุษบก หรือพนมพระ ประดับประดาด้วยธงทิว อัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขึ้นประดิษฐานบนบุษบก ในเรือบางที่ก็มีเครื่องดนตรีประโคมตลอดทางที่เรือเคลื่อนที่ไปสู่จุดกำหนด คือ บริเวณงานท่าน้ำ ที่เป็นบริเวณงานก็จะมีเรือพระหลายๆ วัดมาร่วมงาน ปัจจุบันจะนิยมใช้เรือยนต์จูงแทนการพาย เมื่อชักพระถึงบริเวณงานทั้งหมด ทุกวัดที่มาร่วมจะมีการฉลองสมโภชพระ มีการละเล่นต่างๆ อย่างสนุกสนาน เช่น แข่งเรือปาโคลน ซัดข้าวต้ม เป็นต้น เมื่อฉลองเสร็จก็จะชักพระกลับวัด บางทีก็จะแย่งเรือกัน ฝ่ายใดชนะก็ยึดเรือ ฝ่ายใดแพ้ต้องเสียค่าไถ่ให้ฝ่ายชนะ จึงจะได้เรือคืน


ภาพที่ ว5-8  ประเพณีรับบัว จังหวัดสมุทรปราการ
ที่มา : (http://img.painaidii.com/images/20150911_3_1441938372_899854.jpg, 2015)

     ที่ตำบลบางบ่อ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จะมีประเพณีรับบัว ทางวัดบางพลีใหญ่ในจะอัญเชิญหลวงพ่อโตจำลอง ลงเรือแห่ไปตามลำคลองสำโรง เพื่อให้ประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณริมสองฝั่งคลอง ได้ร่วมกันสักการบูชา โดยการโยนดอกบัวให้ลงไปในเรือที่องค์หลวงพ่อโตประดิษฐานอยู่


ภาพที่ ว5-9  ประเพณีตักบาตรพระร้อย เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ
ที่มา : (http://resource.nationtv.tv/photo_news/2015/11/01/640_5569fjbdckjk7fek6a9bc.jpg, 2015)

     ที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร จะมีการจัดงานประเพณีตักบาตรพระร้อย โดยถือเป็นประเพณีตักบาตรเทโวทางน้ำหนึ่งเดียวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จัดขึ้นในวันอาทิตย์แรกหลังวันออกพรรษาของทุกปี เป็นวัฒนธรรมประเพณีของคนไทยเชื้อสายมอญ ในชุมชนเลียบคลองมอญ เขตลาดกระบัง

     คำว่า พระร้อย หมายถึง การนิมนต์พระสงฆ์ จำนวน 100 รูป มารับบิณฑบาตทางเรือ ลักษณะเป็นการตักบาตรคล้ายกับการตักบาตรเทโวโรหณะ แต่ใช้เรือเป็นพาหนะมารับบิณฑบาต ซึ่งเป็นเรือที่เก็บรักษาและอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี โดยประชาชนจะนั่งคอยใส่บาตรพระเรียงรายอยู่ริมตลิ่ง ตามแนวคลองลำปลาทิวยาวนับหลาย 100 เมตร

     นอกจากนี้ ที่จังหวัดปทุมธานี จะมีการจัดงานประเพณีตักบาตรพระร้อยทางน้ำ โดยประเพณีตักบาตรพระร้อย จะกระทำกันในเทศกาลวันออกพรรษา ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นต้นไป การตักบาตรพระร้อยนี้ ทางวัดที่อยู่ตามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองข้าง จะตกลงกันกำหนดแบ่งกันเป็นเจ้าภาพเพื่อไม่ให้ตรงกัน เพราะถ้าตรงกันแล้วจำนวนพระที่มารับบาตรจะได้ไม่ครบ 100 รูป และต้องการให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายรู้กำหนดเวลา จะได้เตรียมจัดทำอาหารหวานคาวไว้ทำบุญตักบาตรได้ถูกต้อง ซึ่งในช่วงเดือน 11 นี้ เป็นช่วงน้ำหลากล้นฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาน้ำเปี่ยมตลิ่ง การทำบุญตักบาตรพระร้อยเป็นหน้าที่ของวัดที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและริมคลอง แต่ก็ไม่ได้กำหนดไปเสียทุกวัด ส่วนใหญ่จะจัดให้มีการตักบาตรเฉพาะในวัดใหญ่ๆ ตามที่ยึดถือกันมาแต่ดั้งเดิม เพราะว่าต้องนิมนต์พระภิกษุมาเป็นจำนวนมากดังที่เรียกว่า “พระร้อย” นั่นเอง ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของบรรดาพุทธศาสนิกชน การตักบาตรพระร้อยจึงเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดปทุมธานี

     เมื่อถึงกำหนดตักบาตรพระร้อย ณ วัดใด วัดนั้นจะเป็นเจ้าภาพเตรียมการต่างๆ ที่จังหวัดปทุมธานี มัคนายก หรือชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัด จะมาช่วยนำเชือกลงไปขึงแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งกับบันไดข้าม ซึ่งใช้วัดที่เป็นเจ้าภาพเป็นศูนย์กลาง แล้วขึงเชือกตามริมฝั่งไปทางทิศเหนือและทิศใต้ของวัด ผ่านหน้าบ้านของพุทธศาสนิกชนที่อยู่ริมฝั่ง ผู้ที่จะทำบุญตักบาตรไม่ต้องเดินหรือไม่ต้องพายเรือ เพียงแต่นั่งที่หัวบันไดหน้าบ้านของตนหรือนั่งบนเรือหน้าบ้านที่อยู่ติดกับเชือกที่ขึงไว้ รอพระเพื่อจะนำอาหารมาใส่บาตรเท่านั้น พอถึงเวลาที่กำหนด พระตามวัดต่างๆ จะนั่งเรือ โดยมีศิษย์วัดหรือชาวบ้านมาช่วยพายเรือให้พระนั่งรับบาตร ซึ่งพระที่นิมนต์มารับบาตร จะมารวมกันที่วัดที่เป็นเจ้าภาพก่อน ถ้าวัดอยู่ไกล บางทีต้องมาค้างคืนที่วัดที่เป็นเจ้าภาพในครั้งนั้นๆ พอเช้าตรู่ของวันตักบาตรพระร้อย พระที่นิมนต์มารับบาตรจะจับฉลากหมายเลข แล้วก็จะพากันกลับวัดของตน ครั้นตกตอนบ่าย พุทธศาสนิกชนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่จะพากันไปปิดทองนมัสการพระประธานในโบสถ์ หรือพระพุทธรูปที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ หรือปิดทองรอยพระพุทธบาท ซึ่งทางวัดจะจัดไว้ให้ เมื่อนมัสการและปิดทองพระเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะพากันลงเรือลอยไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา

กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันออกพรรษา >>>

1) ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ
2) ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
3) ร่วมกิจกรรม "ตักบาตรเทโว" (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11)
4) ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการและประดับธงชาติ และธงธรรมจักร ตามวัดและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
5) ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษาและที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยายหรือบรรยายธรรม เกี่ยวกับวันออกพรรษา เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป
6) งดการเที่ยวเตร่ ละเว้นอบายมุข รวมทั้งละเว้นการฆ่าสัตว์และบริโภคเนื้อสัตว์

บรรณานุกรม (Bibilography) >>>

1) วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2559. กฐิน. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/กฐิน. 12 พฤษภาคม 2559
2) PaiNaiDii.Com. 2559. งานประเพณีรับบัว 2559 @ สมุทรปราการ. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.painaidii.com/event/event-detail/00001559/lang/th/. 13 พฤษภาคม 2559
3) ห้องสมุด ศูนย์วิทยพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นครนายก. 2559. ตักบาตรพระร้อยทางน้ำ จังหวัดปทุมธานี. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.stou.ac.th/Offices/rdec/nakornnayok/Main/OnlineExhibitions/Phatum/B.html. 13 พฤษภาคม 2559
4) Nation TV. 2559. ลาดกระบังจัดงาน "ตักบาตรพระร้อยทางเรือ" - Nation TV. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.nationtv.tv/main/content/social/378476634/. 13 พฤษภาคม 2559
5) วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2559. วันออกพรรษา. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/วันออกพรรษา. 12 พฤษภาคม 2559
6) กระปุกดอทคอม. 2559. วันออกพรรษา 2559 ประวัติวันออกพรรษา. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://hilight.kapook.com/view/26828. 12 พฤษภาคม 2559

กลับไปยังหน้า "วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา" >>>

หน้าแรก | ความเป็นมา | ข่าวและกิจกรรม | เที่ยวชมวัด | บรรยายธรรม | บทสวดมนต์ | ติดต่อวัด | กลับขึ้นด้านบน
สงวนลิขสิทธิ์ ปี 2559 โดยมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์
จัดทำ ออกแบบและดูแล Website โดย นายรังสิมันตุ์ วงษ์นิกร

Free Web Hosting