เวลาปัจจุบัน

จำนวนผู้เข้าชม

install tracking codes
Visitors Total

ปฏิทิน


บทที่ 4 : ขั้นตอนการบวช >>>

     การบวชพระภิกษุในปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบด้วยกันคือ แบบอุกาสะ และแบบเอสาหัง โดยคำว่า "อุกาสะ" แปลว่า ขอโอกาส ส่วนคำว่า
"เอสาหัง"
แปลว่า ข้าพเจ้านั้น

     ในประเทศไทยนั้น การบวชแบบอุกาสะจะใช้กันในคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ซึ่งเป็นแบบเดิมที่ใช้กันมาแต่โบราณกาล ส่วนการบวชแบบ
เอสาหังจะใช้กันในคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกาย โดยการประยุกต์มาจากแบบอุกาสะ แล้วย่อขั้นตอนให้สั้นขึ้น การบวชแบบเอสาหังเริ่มมีใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยยึดรูปแบบมาจากพระภิกษุสงฆ์ของประเทศเมียนมา

4.1) การกำหนดฤกษ์ยาม

     ก่อนจะทำการบวชจะต้องหาฤกษ์ยามอันเป็นมงคลหรือหากำหนดการที่แน่นอนลงไป โดยบิดามารดาต้องนำบุตรชายที่จะบวช ไปพบกับพระอุปัชฌาย์หรือท่านเจ้าอาวาส เพื่อให้ท่านตรวจวันเดือนปี เมื่อเห็นว่า มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงดูฤกษ์ยามกำหนดวันบวชให้ ในการไปหาพระอุปัชฌาย์นั้น ต้องนำดอกไม้ ธูป เทียน เครื่องสักการะ ไปด้วย

4.2) การลาญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ที่เคารพนับถือ

     เป็นเรื่องที่ผู้จะบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์พึงกระทำ วิธีปฏิบัติคือ ให้เตรียมกระทงดอกไม้มีกรวยครอบ พร้อมธูปเทียนแพวางลงบนพาน เมื่อไปถึงผู้ที่จะรับการลา ก็เข้าไปกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง เปิดกรวยกระทงดอกไม้ แล้วยกขึ้นประคองต่อหน้าผู้ที่จะรับการลา พร้อมกับกล่าวคำขอขมาว่า "กรรมใดที่ข้าพเจ้าได้เคยล่วงเกินต่อท่าน ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งที่รู้และไม่รู้ เพื่อความบริสุทธิ์แห่งเพศพรหมจรรย์ ขอท่านโปรดอโหสิกรรมนั้น แก่ข้าพเจ้าด้วยเทอญ" ญาติผู้ใหญ่จะเอื้อมมือมาแตะพาน แล้วกล่าวว่า "สาธุ ข้าพเจ้ายินดีอโหสิกรรมให้เธอทุกอย่าง และขอให้เธอจงอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าขออนุโมทนาต่อท่านที่ได้บวชในพระพุทธศาสนา ทดแทนคุณบิดามารดา และจงเป็นศาสนทายาท สืบต่อพระพุทธศาสนาด้วยดีในเพศพรหมจรรย์เทอญ" เมื่อจบแล้ว นาคจึงเอาพานวางลงที่พื้น กราบเบญจางคประดิษฐ์อีก 3 ครั้ง แล้วนั่งพับเพียบ เมื่อสนทนาพอสมควรแก่เวลาแล้ว จึงบอกลาท่าน ท่านจะมอบพานดอกไม้ เทียนแพคืนให้ เพื่อจะได้นำไปใช้ลาท่านผู้อื่นต่อไป ขั้นตอนการลาญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ที่เคารพนับถือจะแสดงดังภาพที่ 4-1


ภาพที่ 4-1  ขั้นตอนการลาญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ที่เคารพนับถือ
ที่มา : (http://student.nu.ac.th/%E0%B9%88java-01-00/images/art_30272.jpg, 2015)

4.3) การปลงผม

     ถ้าในงานบวชนาคนั้นมีพิธีทำขวัญนาคด้วย ก็จะปลงผมก่อนวันบวช 1 วัน แล้วนุ่งขาวห่มขาวเข้าพิธีทำขวัญนาค ถ้าไม่มีการทำขวัญนาคก็จะปลงผมในวันบวช โดยพ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่ หรือพระภิกษุสงฆ์ที่คุ้นเคยเป็นผู้ขลิบปลายผมให้ก่อนเป็นพิธี ต่อจากนั้นก็ให้ผู้ที่โกนผมเป็นผู้โกนผม หนวด เครา คิ้ว ให้หมดจด อาบน้ำ นุ่งขาวห่มขาว เตรียมเข้าโบสถ์เพื่อทำพิธีบรรพชาอุปสมบทต่อไป

     ขั้นตอนการโกนผมนาค เริ่มโดยพ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มาร่วมงานบวชในครั้งนี้ ทำการขลิบผมให้นาคเป็นปฐมฤกษ์ จากนั้น
พระสงฆ์จะทำการโกนผมให้นาค ตามประเพณีการบวชพระนั้น ผมนาคที่โกนแล้วจะห่อด้วยใบบัวแล้วนำไปลอยที่แม่น้ำ หรือวางไว้ใต้ร่มโพธิ์ โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ในการปลงผมนั้นจะปลงที่บ้านหรือที่วัดก็ได้แล้วแต่ความสะดวก แต่โดยทั่วไปนิยมปลงผมที่วัดมากกว่า เนื่องจากญาติ หรือแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานจะได้มีโอกาสร่วมพิธีตัดผมนาคแล้ว ยังเป็นการประหยัดเวลาของเจ้าภาพและแขกที่มาร่วมงานอีกด้วย เมื่อปลงผมเสร็จแล้ว นาคจะทำพิธีเวียนประทักษิณรอบสีมา และเข้าอุโบสถประกอบพิธีอุปสมบทต่อไป ขั้นตอนการปลงผมจะแสดงดังภาพที่ 4-2 และขั้นตอนการโกนผมจะแสดงดังภาพที่ 4-3


ภาพที่ 4-2  ขั้นตอนการปลงผม
ที่มา : (http://www.dmc.tv/images/rattanapon/DMC%20NEWS/July/040754/ra12.jpg, 2013)


ภาพที่ 4-3  ขั้นตอนการโกนผม
ที่มา : (https://i.ytimg.com/vi/HBIy9oACQk8/hqdefault.jpg, 2011)

4.4) การแต่งกายของนาค

     การแต่งกายของนาคนั้น ควรแต่งด้วยชุดขาวทั้งหมด ซึ่งจะบ่งบอกถึงความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ ของผู้ที่จะบวช ไม่ควรมีเครื่องประดับประดามากจนเกินไป โดยเครื่องแต่งตัวนาคประกอบด้วย

     4.4.1) เสื้อเชี้ตแขนยาวสีขาว

     4.4.2) สบงขาว

     4.4.3) อังสะขาว

     4.4.4) เข็มขัด หรือสายรัดสำหรับรัดสบง เข็มขัดใช้สำหรับรัดสบงขาว ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมใช้เข็มขัดนาค ในกรณีที่ไม่มีเข็มขัดนาค จะใช้เข็มขัดอย่างอื่นหรือสายรัดแทนก็ได้ ไม่ใช่ข้อกำหนดตายตัว แต่การใช้เข็มขัดนาคเป็นการปฏิบัติตามประเพณีการบวชพระที่นิยม เพื่อให้สอดคล้องกับคำว่า "นาค" ซึ่งเป็นชื่อเรียกของผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา

     4.4.5) เสื้อคลุมนาค

     4.4.6) สร้อยคอ หากมีสร้อยคอจะสวมให้นาคก็ได้ หรือไม่สวมก็ได้

     การแต่งกายของนาคที่ถูกต้อง จะแสดงดังภาพที่ 4-4


ภาพที่ 4-4  การแต่งกายของนาคที่ถูกต้อง
ที่มา : (http://www.thaidphoto.com/forums/attachment.php?attachmentid=1697764091&d=1274016150, 2013)

4.5) การทำขวัญนาค

     เมื่อลูกชายบ้านไหนถึงเกณฑ์จะบวชพระแล้ว ผู้หลักผู้ใหญ่ก็จะจัดการให้ผู้บวชนำดอกไม้ธูปเทียนแพใส่พาน ไปบอกกล่าววงศาคณาญาติที่นับถือ เรียกกันว่า “ลาบวช” จากนั้นจึงมีการสมโภช หรือที่เรียกว่า “ทำขวัญนาค” ก่อนวันบวช 1 วัน แต่สมัยนี้มักทำขวัญนาคในช่วงเช้า แล้วทำพิธีบวชในตอนบ่ายเลย

     ในวันทำขวัญนาคนั้น “เจ้านาค” ซึ่งโกนหัว โกนคิ้ว โกนหนวด ตัดเล็บเรียบร้อยแล้วจึงนุ่งห่มด้วยเครื่องแต่งกายที่งดงาม ใส่เสื้อครุยปักทอง สไบเฉียงทางไหล่ซ้าย คาดเข็มขัดหัวเพชร ใส่แหวนทั้ง 8 นิ้ว หรือแล้วแต่จะมีใส่ จากนั้นไปนั่งหน้าบายศรี หมอทำขวัญนาคก็จะอ่าน
คำทำขวัญนาคขึ้น มีเนื้อความอธิบายถึงชีวิตมนุษย์ตั้งแต่เริ่มเป็นตัว และพ่อแม่ได้บำรุงเลี้ยงมาด้วยความยากจนเติบใหญ่ ก็ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะได้เห็นลูกเป็นคนดี และบัดนี้ก็เป็นที่สมประสงค์ที่เจ้านาคจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา จึงเป็นการสมควรยิ่งที่เจ้านาคจะพึงรักษาความดีอันเป็นมงคลนี้ ไว้แก่ตนต่อไปชั่วอวสานแห่งชีวิต

     เมื่ออ่านบททำขวัญนาคจบแล้ว พราหมณ์ก็ตั้งต้นทำพิธีสมโภช ด้วยน้ำสังข์จุณเจิม และเวียนเทียนประโคม ด้วยดุริยดนตรี เป็นที่พรักพร้อมในระหว่างวงศาคณาญาติ และเพื่อนฝูงทั้งหลาย วันรุ่งขึ้นจึงเข้าพิธีอุปสมบท มีการแห่เจ้านาคไปสู่วัดอย่างสนุกสนานครึกครื้น
ขั้นตอนพิธีการทำขวัญนาคจะแสดงดังภาพที่ 4-5


ภาพที่ 4-5  ขั้นตอนการทำขวัญนาค
ที่มา : (http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/98/28098/images/nark01.jpg, 2010)

4.6) การนำนาคเข้าโบสถ์

     ตามประเพณีนิยม มักปลงผม และทำขวัญนาคที่บ้านของเจ้านาค วันรุ่งขึ้นจึงมีขบวนแห่ไปยังวัด แล้วแห่นาคไปยังโบสถ์ เวียนโบสถ์สามรอบแบบทักษิณาวรรต พร้อมด้วยเครื่องอัฏฐบริขาร ที่ใช้ในการบวช และของที่ถวายพระ เมื่อครบแล้วจะให้นาคมาวันทาสีมา
ส่วนเครื่องอัฏฐบริขารและของถวายพระ จะนำไปตั้งในโบสถ์ก่อน

     การวันทาสีมา นาคจะจุดธูปเทียนที่เสมาหน้าโบสถ์ แล้วนั่งคุกเข่าประนมมือกล่าวคำวันทาสีมา แล้วกราบ ปักดอกไม้ธูปเทียน ณ ที่จัดไว้ เมื่อวันทาสีมาเสร็จแล้ว นำนาคมาที่หน้าโบสถ์ นาคจะโปรยทาน เมื่อโปรยทานเสร็จแล้ว จึงจูงนาคเข้าโบสถ์ โดยบิดาจูงมือข้างขวา มารดาจูงมือข้างซ้าย พวกญาติคอยจับชายผ้าขาวตามส่งข้างหลัง นาคต้องก้าวข้ามธรณีประตู ห้ามเหยียบเป็นอันขาด เมื่อพ้นประตูไปแล้วให้เดินตรงไปที่พระประธาน ไหว้พระประธาน โดยใช้ดอกไม้ธูปเทียนอีกหนึ่งกำ นำไปจุดธูปเทียนบูชาพระประธาน ใช้คำบูชาพระเหมือนคำวันทาสีมาข้างต้น แล้วกลับมานั่ง ณ ที่ซึ่งจัดไว้แถวผนังด้านหน้าของโบสถ์ ขั้นตอนการนำนาคเข้าโบสถ์จะแสดงดังภาพที่ 4-6


ภาพที่ 4-6  ขั้นตอนการนำนาคเข้าโบสถ์
ที่มา : (http://www.kmutt.ac.th/p-prof/Event52_Oct6_4.jpg, 2009)

4.7) พิธีบรรพชาอุปสมบท

     เมื่อถึงกำหนดพิธี พระสงฆ์ที่ได้รับอาราธนาในพิธีบวชมี พระอุปัชฌาย์ พระคู่สวด และพระอันดับ จะเข้าอุโบสถ นั่งตามแผนผังที่คณะสงฆ์กำหนด พิธีบรรพชาอุปสมบทจะเริ่มโดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือญาติผู้ใหญ่เข้ามานั่งข้างหน้านาค เพื่อจะมอบผ้าไตรให้นาคเข้าทำพิธีบวชต่อพระสงฆ์ต่อไป ซึ่งปฏิบัติเช่นเดียวกับวิธีซ้อมขานนาค เมื่อพระอุปัชฌาย์บอกอนุศาสน์เสร็จแล้ว เจ้าภาพ ญาติมิตรจะถวายของพระอันดับ พระใหม่ถวายพระอาจารย์คู่สวดอีกหนึ่งรูปที่ยังมิได้ถวาย ต่อจากนั้นพระอุปัชฌาย์จะบอกให้พระใหม่มานั่งรับประเคนของบริวารบวชที่ด้านหน้า พระใหม่จะออกมานั่งพับเพียบอยู่ท้ายอาสนสงฆ์ ทอดผ้ากราบไว้ข้างหน้า หากผู้ชายประเคนก็รับของด้วยมือ หากเป็นผู้หญิงก็จับผ้ากราบไว้ โยมผู้หญิงจะวางบนผ้ากราบ เมื่อรับของประเคนหมดแล้ว ให้กลับนั่งหันหน้ามาทางพระสงฆ์ เตรียมกรวดน้ำ ขั้นตอนพิธีบรรพชาอุปสมบทจะแสดงดังภาพที่ 4-7


ภาพที่ 4-7  ขั้นตอนพิธีการบรรพชาอุปสมบท
ที่มา : (http://www.kmutt.ac.th/p-prof/Event52_Oct6_2.jpg, 2009)

4.8) การกรวดน้ำ

     เมื่อเสร็จการรับประเคนแล้ว พระใหม่ และพ่อแม่หรือผู้ปกครอง หรือเจ้าภาพในการบวชครั้งนี้ จะกรวดน้ำโดยใช้เต้ากรวดน้ำคนละที่ เมื่อพระอุปัชฌาย์ซึ่งเป็นประธานสงฆ์ในที่นั้น เริ่มบทอนุโมทนาว่า ยถา วารีวหา ปูร .... พระใหม่และญาติที่เป็นเจ้าภาพก็จะกรวดน้ำพร้อมกัน เมื่อขึ้นบท สพฺพีติโย .... ก็กรวดน้ำหมดเต้าพอดี นั่งพนมมือรับพรจากพระสงฆ์ เสร็จแล้วพระใหม่กราบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธีการบวช หลังจากนั้นพระพี่เลี้ยงจะนำพระใหม่ขึ้นจากโบสถ์ พระใหม่ควรสะพายบาตรด้วยไหล่ขวา มือซ้ายถือพัด ส่วนของอื่นให้ผู้อื่นถือไป พระพี่เลี้ยงจะนำพระใหม่ออกทางประตูหน้า ขั้นตอนการกรวดน้ำจะแสดงดังภาพที่ 4-8


ภาพที่ 4-8  ขั้นตอนการกรวดน้ำ
ที่มา : (http://www.bloggang.com/data/prommayanee/picture/1282145544.jpg, 2010)

บรรณานุกรม (Bibilography) >>>

1) นฤดี น้อยศิริ. 2558. คู่มือการบวช. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : www.ayu-culture.go.th/newweb/images/knowledge/
K_G001.pdf. 20 ธันวาคม 2558

กลับไปยังหน้า "การบวช" >>>

หน้าแรก | ความเป็นมา | ข่าวและกิจกรรม | เที่ยวชมวัด | บรรยายธรรม | บทสวดมนต์ | ติดต่อวัด | กลับขึ้นด้านบน
สงวนลิขสิทธิ์ ปี 2559 โดยมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์
จัดทำ ออกแบบและดูแล Website โดย นายรังสิมันตุ์ วงษ์นิกร

Free Web Hosting