เวลาปัจจุบัน

จำนวนผู้เข้าชม

install tracking codes
Visitors Total

ปฏิทิน


บทที่ 5 : พระไตรปิฎกในประเทศไทย >>>

5.1) พระไตรปิฎกมาสู่ประเทศไทย


ภาพที่ 5-1  พระสถูปที่เมืองกุสินารา สถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ที่มา : (http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures16/s16-43.jpg, 2015)

     สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือเรื่อง ตำนานพระพุทธเจดีย์ พอสรุปได้ว่า
พระพุทธศาสนามาสู่ประเทศไทย รวม 4 ครั้งด้วยกัน คือ

     ครั้งที่ 1 : เกิดขึ้นก่อนปี พ.ศ. 500 พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเข้ามาสู่ประเทศไทย ที่จังหวัดนครปฐม ตามหลักฐานที่ว่า พระโสณะ และพระอุตตระ เป็นหัวหน้าคณะนำพระพุทธศาสนามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ และเป็นสมณฑูตจากประเทศอินเดียด้วย

     ครั้งที่ 2 : เกิดขึ้นประมาณปี พ.ศ. 1300 พระพุทธศาสนานิกายมหายานเข้ามาสู่ภาคใต้ของประเทศไทย มาจากอาณาจักรศรีวิชัย

     ครั้งที่ 3 : เกิดขึ้นประมาณปี พ.ศ. 1600 พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ภาคเหนือของประเทศไทย มาจากประเทศเมียนมา

     ครั้งที่ 4 : เกิดขึ้นประมาณปี พ.ศ. 1800 พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศไทยทางนครศรีธรรมราช มาจากประเทศศรีลังกา

     จากหลักฐานดังกล่าวข้างต้น ทำให้สันนิษฐานว่า ในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศไทยนั้น ยังไม่มีพระไตรปิฎกมาด้วย เพราะในครั้งที่ 1 ยังไม่มีการจารึกพระไตรปิฎก ส่วนครั้งที่ 2 เป็นพระพุทธศาสนานิกายมหายาน พระพุทธศาสนาแบบที่ประเทศไทยนับถือนั้น เป็นพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม ที่เรียกว่า เถรวาท พระไตรปิฎกภาษาบาลีที่เข้ามาสู่ประเทศไทย น่าจะเข้ามาในสมัยที่พระพุทธศาสนาถูกเผยแพร่มาจากประเทศเมียนมา เข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทย กับในสมัยที่พระพุทธศาสนาถูกเผยแพร่มาจากประเทศศรีลังกา เข้าสู่นครศรีธรรมราช แล้วทางกรุงสุโขทัยรับมา

     พระไตรปิฎกที่ประเทศไทยรับมา และถ่ายทอดเป็นอักษรที่ใช้กันอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ จึงน่าจะเป็นอักษรลานนา หรือล้านนา ในกรณีที่รับมาจากประเทศเมียนมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1600 และน่าจะเป็นอักษรขอม ในกรณีที่รับมาจากประเทศศรีลังกา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1800

     สภาพการปกครองประเทศในสมัยนั้น เชียงใหม่กับสุโขทัยมิได้ปกครองรวมกัน ต่างมีเจ้าผู้ครองนครเป็นอิสระของตนในแต่ละเมือง โดยเฉพาะในเมืองเชียงใหม่ พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสูงสุด ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2000 เป็นต้นมา มีการทำสังคายนาชำระพระไตรปิฎก เมื่อปี พ.ศ. 2020 ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้าติโลกราช หลังจากนั้นก็มีนักปราชญ์ภาษาบาลีผู้ยิ่งใหญ่คือ พระสิริมังคลาจารย์ แต่งตำราภาษาบาลี อธิบายพระพุทธศาสนาไว้หลายเล่ม เช่น คำอธิบายมงคลสูตรที่เรียกว่า "มังคลัตถทีปนี" เป็นต้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการทำสังคายนาครั้งนั้น ประมาณ 20-40 ปี

     ในกรุงสุโขทัย ตั้งแต่ก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง มาถึงสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก มีการแต่งหนังสือเรื่อง ไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง อ้างอิงเรื่องราวจากพระไตรปิฎก และคำอธิบายพระไตรปิฎก มีการให้รายชื่อหนังสืออ้างอิงไว้หลายสิบเรื่อง อันแสดงให้เห็นความคิดนำสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท ในการแต่งหนังสือแล้วแสดงรายชื่อหนังสือที่ได้ค้นคว้าอ้างอิงไว้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 600 - 800 ปีมาแล้ว

5.2) การสังคายนาพระไตรปิฎกในประเทศไทย

     การสังคายนาชำระพระไตรปิฎก การจารึกและการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทยได้กระทำกันหลายครั้งหลายหน ในหลายรัชกาล
ต่อเนื่องกันตามวาระอันเป็นมงคลอย่างไม่ขาดตอน ซึ่งเรียงลำดับให้เห็นได้ดังต่อไปนี้

     การสังคายนาครั้งที่ 1 : เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2020 ในสมัยพระเจ้าติโลกราช แห่งอาณาจักรล้านนา ในครั้งนั้น เมื่อทำการฉลองสมโภชแล้ว ก็โปรดให้สร้างมณเฑียรในวัดโพธาราม เพื่อประดิษฐานพระไตรปิฎก

     การสังคายนาครั้งที่ 2 : เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2331 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) แห่ง
กรุงรัตนโกสินทร์ ในครั้งนั้นเมื่อทำเสร็จแล้ว ก็โปรดให้ปิดทองแท่งทับทั้งปกหน้าหลังและกรอบทั้งสิ้น เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับทอง

     การสังคายนาครั้งที่ 3 : เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2431 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) แห่ง
กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระองค์ท่านเสวยสิริราชสมบัติครบ 25 ปี

     การสังคายนาครั้งที่ 4 : เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2468 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) แห่ง
กรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ เพราะพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ขึ้นในรัชกาลที่ 5 นั้น ชุดหนึ่งมีเพียง 39 เล่มเท่านั้น มีบางคัมภีร์ที่ยังไม่ได้พิมพ์ และบางคัมภีร์พิมพ์แล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์ ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้โปรดเกล้าฯ ให้กราบทูลอาราธนา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเป็นประธานในการตรวจสอบทานชำระต้นฉบับที่ขาดหายไปเพิ่มอีก จากที่มีอยู่ 39 เล่ม ให้ครบ 45 เล่ม การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิมพ์
พระไตรปิฎกฉบับอักษรไทยจนจบบริบูรณ์ และได้ขนานนามพระไตรปิฎกชุดนี้ว่า พระไตรปิฎกสยามรัฐ มีตราช้างเป็นเครื่องหมาย พิมพ์จำนวน 1,500 ชุด จัดทำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 ถึงปี พ.ศ. 2473 จึงสำเร็จ เมื่อจัดพิมพ์เสร็จแล้ว ได้พระราชทานในพระราชอาณาจักร 200 ชุด พระราชทานนานาประเทศ 450 ชุด เหลืออีก 850 ชุด พระราชทานแก่ผู้บริจาคทรัพย์ขอรับหนังสือพระไตรปิฎก

     การสังคายนาครั้งที่ 5 : เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2483 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) และ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่ 9) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในการสังคายนาครั้งนี้ได้มีการตรวจชำระและแปลพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยขึ้น เป็นฉบับภาษาไทยที่สมบูรณ์เป็นครั้งแรก เพราะพระไตรปิฎกฉบับก่อนที่ได้ทรงโปรดให้จัดสร้างขึ้นในรัชกาลก่อนๆ นั้น เป็นภาษาขอมบ้าง เป็นภาษาบาลีอักษรไทยบ้าง โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวเถร)
วัดสุทัศนเทพวราราม ได้ทรงปรารภว่า ประเทศไทยเราควรจะมีพระไตรปิฎกที่แปลเป็นภาษาไทยจนครบถ้วนบริบูรณ์ สมกับที่เป็นเมืองแห่งพระพุทธศาสนา กระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) และรัฐบาลในสมัยนั้นเห็นชอบด้วย จึงนำความกราบบังคมทูล และได้โปรดให้งานนี้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และถวายให้สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธาน โดยมอบให้กรมธรรมการ (ปัจจุบันคือกรมการศาสนา) เป็นผู้อำนวยการฝ่ายคฤหัสถ์ จัดพิมพ์พระไตรปิฎกเพื่อเผยแพร่่ต่อไป เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 ถึงปี พ.ศ. 2500 และได้ขนานนามว่า พระไตรปิฎกภาษาไทย จัดพิมพ์จำนวน 2,500 ชุด ชุดละ 80 เล่ม จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้เป็นอนุสรณ์เนื่องในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

     การสังคายนาครั้งที่ 6 : เกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2514 เนื่องในงานอันเป็นมงคลสมัยสำคัญ ซึ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ผู้ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกพระไตรปิฎกภาษาไทยมาตั้งแต่งานฉลอง
25 พุทธศตวรรษนั้น ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมาบรรจบครบ 25 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2514 พอดี ทางราชการได้จัด
พระราชพิธีรัชดาภิเษกถวายเป็นการเฉลิมพระเกียรติ คณะกรรมการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเห็นสมควรทูลเกล้าฯ ถวายการพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยครั้งนี้ในปีรัชดาภิเษกนี้ด้วย จึงตกลงเรียกพระไตรปิฎกฉบับนี้ใหม่ว่า พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง พิมพ์ในปีฉลองรัชดาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พุทธศักราช 2514 โดยจัดพิมพ์ขึ้นจำนวน 2,000 ชุด ชุดละ 45 เล่ม เท่ากับจำนวนฉบับภาษาบาลีที่มีปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้

     การสังคายนาครั้งที่ 7 : กรมการศาสนาได้ทำโครงการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง เสนอกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2520 กรรมการมหาเถรสมาคมได้พิจารณาเห็นชอบและมีมติให้ดำเนินการได้ กรมการศาสนาได้เริ่มดำเนินการจัดพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 เสร็จสมบูรณ์ต้นปี พ.ศ.2522 และได้จัดพิมพ์จำนวน 2,000 ชุด ชุดละ 45 เล่ม และเรียกชื่อว่า พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง เหมือนเดิม

     การสังคายนาครั้งที่ 8 : กรุงรัตนโกสินทร์ได้ดำรงมั่นคงมาครบ 200 ปี ในปี พ.ศ. 2525 ทางคณะสงฆ์เห็นว่า พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์สำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนา และได้เป็นมรดกตกทอดมาถึงบัดนี้ ก็โดยอาศัยพระบรมราชูปถัมภ์แห่งพระบรมมหากษัตริย์ใน
พระบรมราชจักรีวงศ์ตลอดมา กรมการศาสนาจึงได้นำเรื่องเสนอกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2524
ที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคมลงมติเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินการจัดพิมพ์ได้ ในการพิมพ์ครั้งนี้ได้จัดพิมพ์จำนวน 3,000 ชุด ชุดละ 45 เล่ม

     การสังคายนาครั้งที่ 9 : เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2530 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่ 9) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ

5.3) พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ในประเทศไทย


ภาพที่ 5-2  หนังสือพระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 5
ที่มา : (http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures16/s16-35-2.jpg, 2015)

     ในสมัยที่ยังไม่มีการจดจารึกเป็นตัวหนังสือ เมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว ท่านใช้วิธีท่องจำคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา แล้วกล่าวทบทวนหรือสวดพร้อมๆ กันนำสืบต่อกันมา โดยเหตุที่คำสั่งสอนมีอยู่มาก ถึงขนาดเมื่อพิมพ์รวมเป็นเล่มหนังสือพระไตรปิฎกแล้ว มีจำนวนทั้งหมดถึง 45 เล่ม ยากที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะท่องจำเพียงผู้เดียวให้จบบริบูรณ์ได้ จึงมีการแบ่งหน้าที่กัน ให้กลุ่มนี้ท่องจำส่วนนี้ กลุ่มนั้นท่องจำส่วนนั้น กลุ่มอื่นท่องจำส่วนอื่น รวมกันหลายๆ กลุ่ม ช่วยกันท่องจำพระไตรปิฎก เรียงลำดับตั้งแต่ต้นจนจบ สามารถกล่าวทบทวนปากเปล่าได้

     เมื่อมีการใช้ตัวหนังสือและมีการเขียนหนังสือแพร่หลายขึ้น จึงได้มีการจดจารึกข้อความแห่งพระไตรปิฎกลงในใบลาน โดยใบลานคือ ใบของต้นลาน ซึ่งนอกจากใช้สานทำหมวก ทำเครื่องใช้อื่นๆ แล้ว ยังใช้แทนกระดาษได้ ในสมัยที่ยังมิได้คิดค้นทำกระดาษขึ้นมา

     วิธีจดจารึกข้อความลงในใบลานที่เรียกว่า "จาร" นั้นคือ ใช้เหล็กแหลมที่เรียกว่า "เหล็กจาร" เขียนหรือขีดข้อความเป็นตัวหนังสือ ลงไปในแผ่นใบลาน แล้วเอาเขม่าหรือดินหม้อ ซึ่งมีสีดำ ผสมกับน้ำมะพร้าว คนให้เข้ากันดี แล้วทาถูลงไปบนรอยที่ขีดเขียนนั้น แล้วเอาผ้าเช็ดให้แห้ง สีดำที่ซึมลงไปในรอยขีดเขียน จะปรากฏเป็นตัวหนังสือ ให้อ่านข้อความได้ตามความประสงค์ เมื่อรวมใบลานได้หลายแผ่นแล้ว ถ้าจะทำให้เป็นชุดเดียวกันคล้ายเล่มหนังสือ ก็เอาเหล็กแหลมเผาไฟ เจาะให้เป็นช่อง เอาด้ายร้อยรวมเป็นผูก แล้วใช้ผ้าห่อเก็บไว้ให้เป็นชุดติดต่อกัน
การจดจารึกข้อความแห่งพระไตรปิฎกลงในใบลานนี้ กระทำเป็นครั้งแรกในประเทศศรีลังกา เมื่อปี พ.ศ. 433 สมัยของพระเจ้าวัฏคามณีอภัย บางหลักฐานก็ว่าเมื่อปี พ.ศ. 450

     ต่อมาเมื่อมีการพิมพ์หนังสือเป็นเล่มขึ้น จึงได้มีการนำข้อความในใบลานนั้นมาเรียบเรียง จัดทำพระไตรปิฎกเป็นเล่มหนังสือขึ้นมา ในประเทศไทย มีการพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มหลายครั้ง ดังนี้

     การพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งที่ 1 : เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มีการตรวจชำระ และจัดพิมพ์ในระหว่างปี พ.ศ. 2431 - 2435 มีจำนวนทั้งหมด 39 เล่ม นอกจากนำไปใช้ประโยชน์ในราชอาณาจักรไทยแล้ว ยังได้ส่งไปยังสถาบันสำคัญต่างๆ ในต่างประเทศอีกด้วย

     การพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งที่ 2 : เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีการตรวจชำระ สอบทานพระไตรปิฎกที่พิมพ์ในประเทศอื่นๆ และบันทึกไว้เป็นหลักฐานด้วย การพิมพ์พระไตรปิฎกในครั้งนี้มีจำนวนทั้งหมด 45 เล่ม เพิ่มเติมส่วนที่ยังขาดอยู่ในการพิมพ์ครั้งแรก ระยะเวลาตรวจชำระ และจัดพิมพ์อยู่ในระหว่างปี พ.ศ. 2468 - 2473 เมื่อมีผู้ต้องการมากขึ้น จึงได้มีการพิมพ์ซ้ำอีก 2 ครั้งในปี พ.ศ. 2502 และปี พ.ศ. 2523 ในการนี้มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากทางราชการ เป็นฝ่ายดำเนินการจัดพิมพ์ครั้งที่ 2

     การพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งที่ 3 : จัดทำตามพระบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ประกาศสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2528 เพื่อให้มีการตรวจชำระ และจัดพิมพ์พระไตรปิฎก เนื่องในมงคลดิถีที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 การดำเนินงานในครั้งนี้มีเวลา 2 ปี และได้พิมพ์แล้วเสร็จ ทั้งฉบับภาษาบาลีและฉบับแปลเป็นภาษาไทย โดยกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นฝ่ายดำเนินงานจัดพิมพ์ครั้งที่ 3

     การพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งที่ 4 : เป็นผลงานของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งทำงานติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 30 ปี และจัดพิมพ์พระไตรปิฎกได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2534 การพิมพ์พระไตรปิฎกในครั้งนี้มีจำนวนทั้งหมด 45 เล่ม ในขณะเดียวกัน
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ยังได้จัดพิมพ์คำอธิบายพระไตรปิฎกที่เรียกว่า อรรถกถา ด้วย การดำเนินงานของอาจารย์ท่านหนึ่งแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ มีการริเริ่มหาทุนจัดตั้งคณะทำงาน ในที่สุดก็จัดพิมพ์อรรกถาได้สำเร็จเป็นชุดแรกจำนวน 34 เล่ม และจะพิมพ์เพิ่มเติมอีกให้สมบูรณ์ อาจารย์ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ท่านนั้น คือ นายพร รัตนสุวรรณ

     ในขณะเดียวกัน ทางมหาเถรสมาคม มีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นพระประมุข ได้ดำเนินการจัดพิมพ์คำอธิบายพระไตรปิฎกที่เรียกว่า อรรถกถา ให้ครบชุดสมบูรณ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ด้วย

     ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) นี้ เป็นระยะเวลาที่ตำราทางพระพุทธศาสนาคือ พระไตรปิฎกภาษาบาลี และที่แปลเป็นไทย รวมทั้งคำอธิบายพระไตรปิฎกที่เรียกว่า อรรถกถา ทั้งภาษาบาลี และภาษาไทย ได้มีการจัดพิมพ์ขึ้นสมบูรณ์

5.4) พระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นภาษาไทย


ภาพที่ 5-3  พระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นภาษาไทย
ที่มา : (http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures16/s16-39.jpg, 2015)

     ในประเทศไทยมีการศึกษาพระไตรปิฎกมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และได้มีการแปลบางส่วนของพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย
สืบต่อกันมา จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ แต่มิได้แปลจนจบครบชุด อาจกล่าวได้ว่า การแปลพระไตรปิฎก
ภาษาบาลีเป็นภาษาไทย ได้กระทำกันจนครบชุด ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9)

     เมื่อคณะสงฆ์ปรารภงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้น จัดแปล และพิมพ์ขึ้นสำเร็จสมบูรณ์ทั้ง 45 เล่ม ภายหลังงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา ต่อมาได้มีการจัดพิมพ์ซ้ำ และมีการแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนั้น มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็ได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎก พร้อมทั้งคำอธิบายพระไตรปิฎกที่เรียกว่า อรรถกถา แปลเป็นภาษาไทยรวม 91 เล่มจบบริบูรณ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2530 และได้จัดให้พระราชทานแก่ผู้แทนองค์การพระพุทธศาสนาทั่วโลก ซึ่งได้รับเชิญให้มาร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสนี้ อนึ่ง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชนี้ ยังได้มีผู้จัดทำและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับย่อความ ให้เหลือแต่สาระสำคัญจากพระไตรปิฎกภาษาบาลี 45 เล่ม ให้รวมเป็นเพียงเล่มเดียวในภาษาไทยอีกด้วย

5.5) พระภิกษุชาวเยอรมันกล่าวถึงพระไตรปิฎกฉบับไทย

     ภิกษุชาวเยอรมันรูปหนึ่ง ผู้แปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมันไว้บางตอน และได้เขียนหนังสืออธิบายความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาไว้มาก ทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมันคือ พระภิกษุญาณติโลกะ ผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้เขียนหนังสือนำเกี่ยวกับ
พระอภิธรรมปิฎกขึ้น โดยใช้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า Guide Through the Abhidhamma-pitaka เปรียบเทียบพระไตรปิฎกฉบับไทยกับฉบับที่พิมพ์ด้วยอักษรโรมันในประเทศอังกฤษไว้ 2 ตอน ตอนแรกกล่าวไว้ในหน้า 2 บทนำ แสดงความรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณอย่างลึกซึ้งต่อบาลี
พระอภิธรรมปิฎกฉบับไทย ซึ่งพระราชทานไปประเทศต่างๆ ว่ามีถึง 6,294 หน้า ขนาด 8 หน้ายก แต่ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษไปแล้วเพียง 1,152 หน้า ตอนที่ 2 กล่าวไว้ในหน้า 114 ของหนังสือเล่มเดียวกันว่า คัมภีร์ปัฏฐานฉบับพระไตรปิฎกอักษรไทยมีถึง 6 เล่ม รวม 3,120 หน้า แต่ฉบับของสมาคมบาลีปกรณ์ ประเทศอังกฤษมีพิมพ์ไว้เพียง 549 หน้า แสดงให้เห็นถึฃความสมบูรณ์แห่งพระไตรปิฎกฉบับของประเทศไทยอย่างชัดเจน หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์มาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกพิมพ์ในปี พ.ศ. 2481 และครั้งที่ 2 พิมพ์ในปี พ.ศ. 2496

บรรณานุกรม (Bibilography) >>>

1) ครูเต้. 2558. การสังคายนาพระไตรปิฎก 11 ครั้ง และในประเทศไทย. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://social.thepbodint.ac.th/
topmenu.php?c=listknowledge&q_id=133. 29 ธันวาคม 2558
2) สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. 2558. ความเป็นมาของพระไตรปิฎก. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://kanchanapisek.or.th/
kp6/sub/book/book.php?book=16&chap=2&page=t16-2-infodetail02.html. 29 ธันวาคม 2558
3) สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. 2558. พระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นภาษาไทย. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://kanchanapisek.or.th/
kp6/sub/book/book.php?book=16&chap=2&page=t16-2-infodetail05.html. 29 ธันวาคม 2558
4) สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. 2558. พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ในประเทศไทย. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://kanchanapisek.or.th/
kp6/sub/book/book.php?book=16&chap=2&page=t16-2-infodetail03.html. 29 ธันวาคม 2558
5) สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. 2558. พระไตรปิฎกมาสู่ประเทศไทย. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://kanchanapisek.or.th/
kp6/sub/book/book.php?book=16&chap=2&page=t16-2-infodetail10.html. 29 ธันวาคม 2558
6) สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. 2558. พระภิกษุชาวเยอรมันกล่าวถึงพระไตรปิฎกฉบับไทย. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=16&chap=2&page=t16-2-infodetail08.html. 29 ธันวาคม 2558

กลับไปยังหน้า "พระไตรปิฎก" >>>

หน้าแรก | ความเป็นมา | ข่าวและกิจกรรม | เที่ยวชมวัด | บรรยายธรรม | บทสวดมนต์ | ติดต่อวัด | กลับขึ้นด้านบน
สงวนลิขสิทธิ์ ปี 2559 โดยมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์
จัดทำ ออกแบบและดูแล Website โดย นายรังสิมันตุ์ วงษ์นิกร

Free Web Hosting