เวลาปัจจุบัน

จำนวนผู้เข้าชม

install tracking codes
Visitors Total

ปฏิทิน


ภาคผนวก ก : ลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา >>>

     1) พระบาลี หรือพระไตรปิฎก จัดเป็นคัมภีร์ขั้นต้น เป็นคัมภีร์ที่บรรจุคำสอนของพระพุทธเจ้าเอาไว้ เป็นคัมภีร์ที่เก็บรักษาพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า จึงถือว่าเป็นคัมภีร์ที่มีความสำคัญในการตัดสินความถูกต้องของพระธรรมวินัย โดยใช้หลักพิจารณาว่า ถ้าความใดตรงกับพระไตรปิฎกก็เชื่อถือได้ และถ้าความใดไม่ตรงหรือขัดแย้งกับพระไตรปิฎกก็ถือได้ว่า ความนั้นไม่ใช่คำสอนของพระพุทธองค์ ตัวอย่างพระบาลีหรือพระไตรปิฎกจะแสดงดังภาพที่ ก-1


ภาพที่ ก-1  พระบาลี หรือพระไตรปิฎก
ที่มา : (http://www.gmwebsite.com/upload/phuttawong.net/webboard/tipitaka.jpg, 2015)

     2) อรรถกถา เป็นคัมภีร์ที่แต่งโดยพระอรรกถาจารย์ เป็นคัมภีร์ที่อธิบายความหรือคำศัพท์ที่เข้าใจยากในพระบาลี ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยได้ยกคำศัพท์มาอธิบายเป็นคำๆ บ้าง ยกข้อความหรือประโยคยาวๆ มาขยายความให้ชัดเจนบ้าง และอาจแสดงทัศนะและข้อวินิจฉัยของ
ผู้แต่งแทรกไว้ด้วย จึงนับว่า เป็นคัมภีร์ที่เป็นคุณูปการแก่ชนรุ่นหลังที่ศึกษาพระไตรปิฎกเป็นอย่างมาก โดยความเป็นมาของคัมภีร์อรรถกถาในเชิงประวัติศาสตร์ แบ่งได้เป็น 2 มติ โดยมติแรกเห็นว่า อรรถกถาเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ส่วนมติที่สองเห็นว่า อรรถกถาเริ่มมีมาตั้งแต่ในสมัยการสังคายนาครั้งที่ 3 แต่อย่างไรก็ตาม คัมภีร์อรรถกถาภาษาบาลีดั้งเดิมได้สูญหายจากประเทศอินเดีย เหลือเพียงคัมภีร์อรรถกถาภาษาสิงหล ซึ่งพระมหินทะเถระได้นำอรรถกถาในภาษาบาลีมาเผยแพร่ในเกาะลังกา ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (ปี พ.ศ. 236)

     คัมภีร์อรรถกถาที่พระพุทธโฆสาจารย์แต่งไว้มีดังต่อไปนี้

2.1) สมันตัปปาสาทิกา (อรรถกถาพระวินัยปิฎก)                     

2.2) กังขาวิตรณี (อรรถกถาพระปาฏิโมกข์)

2.3) สุมังคลาวิลาสินี (อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย)        

2.4) ปปัญจสูทนี (อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย)

2.5) สารัตถปกาสินี (อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย)  

2.6) มโนรถปูรณี (อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย)

2.7) ปรมัตถโชติกา (อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะและสุตตนิบาต)

2.8) ธัมมปทัฏฐกถา (อรรถกถาพระสุตตันปิฎก ขุททกนิกาย ธัมมบท)

2.9) ชาตกัฏฐกถา (อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก)

2.10) อัตถสาลินี (อรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี)

2.11) สัมโมหวิโนทนี (อรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ, ปุคคล บัญญัติ,ธาตุกถา, ยมก, ปัฏฐาน)

     ตัวอย่างคัมภีร์อรรถกถาจะแสดงดังภาพที่ ก-2


ภาพที่ ก-2  อรรถกถาภาษาล้านนา
ที่มา : (http://www.dailynews.co.th/images/973761?s=750x500, 2015)

     3) ฎีกา เป็นคัมภีร์ที่แต่งเพื่ออธิบายความในอรรถกถา จัดเป็นคัมภีร์ที่มีความสำคัญรองลงมาจากคัมภีร์อรรถกถา วัตถุประสงค์ใน
การแต่งฎีกาก็คือ เพื่ออธิบายเนื้อความในอรรถกถา หรือฎีกาด้วยกันเอง ส่วนใหญ่ชื่อคัมภีร์นั้นจะมีคำว่า ฎีกา ตามด้วยชื่อคัมภีร์อรรถกถาที่อธิบายความ และส่วนมากจะมีคำว่า ทีปนี โชติกา ปกาสินี หรือ คัณฐิ ลงท้าย ซึ่งคำลงท้ายเหล่านี้มีความหมายโดยรวมว่า ให้ความกระจ่าง (อธิบายความในอรรถกถาให้กระจ่าง) โดยฎีกาบางคัมภีร์อาจมีสืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณ และถูกนำมาเรียบเรียงอีกครั้งในยุค
ราวพุทธศตวรรษที่ 14 ถึง พุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นยุคที่มีฎีกาเกิดขึ้นมาก หลายคัมภีร์ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ยังคงได้รับการยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน คัมภีร์ฎีกาเถรวาทยุคแรก หมายถึงเฉพาะคัมภีร์ที่อธิบายอรรถกถา แต่ยุคหลังหมายความรวมถึงคัมภีร์ที่อธิบายความหมายของคัมภีร์อื่นๆ ด้วย เช่น ฎีกาพงศาวดารบาลี เป็นต้น 

     การแบ่งคัมภีร์ฎีกา จะแบ่งตามสายคัมภีร์ โดยแบ่งได้เป็น 3 ฎีกา ดังนี้

     3.1) ฎีกาอรรถกถาพระวินัยปิฎก เป็นคัมภีร์ที่อธิบายขยายความอรรถกถาพระวินัยปิฎก มีจำนวนทั้งหมด 21 คัมภีร์

     3.2) ฎีกาอรรถกถาพระสุตตันตปิฎก เป็นคัมภีร์ที่อธิบายขยายความอรรถกถาพระสุตตันตปิฎก มีจำนวนทั้งหมด 11 คัมภีร์

     3.3) ฎีกาอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก เป็นคัมภีร์ที่อธิบายขยายความอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก มีจำนวนทั้งหมด 42 คัมภีร์

     4) อนุฎีกา เป็นคัมภีร์ที่แต่งเพื่ออธิบายความในฎีกาอีกทอดหนึ่ง และมีเพียงคัมภีร์อนุฎีกาที่อธิบายอภิธรรมมูลฎีกาเท่านั้นที่ได้รับความนิยม ส่วนคัมภีร์อนุฏีกาอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ไม่ปรากฏแพร่หลาย โดยคัมภีร์อนุฎีกานั้นได้แต่งขึ้นในยุคภายหลังคัมภีร์ฎีกา

     การแบ่งคัมภีร์อนุฎีกา จะแบ่งตามสายคัมภีร์ โดยแบ่งได้เป็น 3 ฎีกา ดังนี้

     4.1) อนุฎีกาพระวินัยปิฎก แบ่งได้เป็น 3 ฎีกา ได้แก่ วินยลักขาฎีกาคัมภีร์ใหม่, ขุททกสิกขาฎกีาคัมภีร์ใหม่ (พระสุมังคลปสาทนีฎีกา) และมูลสิกขาฎีกาคัมภีร์ใหม่

     4.2) อนุฎีกาพระสุตตันตปิฎก แบ่งได้เป็น ผลงานพระสารีบุตรชาวลังกา จำนวน 11 คัมภีร์ และผลงานพระอนุฎีกาจารย์รูปอื่นๆ จำนวน 2 ภัมคีร์ รวมทั้งหมดเป็น 13 คัมภีร์

     4.3) อนุฎีกาพระอภิธรรมปิฎก แบ่งได้เป็น ผลงานพระอานันทะ จำนวน 6 คัมภีร์, ผลงานพระสุมังคละ จำนวน 6 คัมภีร์ และไม่ปรากฏผู้แต่ง จำนวน 5 คัมภีร์ รวมทั้งหมดเป็น 17 คัมภีร์

     5) คัมภีร์ปกรณ์วิเสส เป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้น เป็นงานประพันธ์เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา แต่งโดยพระเถราจารย์ผู้ที่มีความรอบรู้พระธรรมวินัยอย่างลึกซึ้งแตกฉาน โดยแต่งตามเค้าโครงของผู้รจนาเอง หรือแต่งขึ้นเพื่อตอบปัญหาและข้อสงสัยของผู้อื่น มีการจัดเรื่องและ
คำอธิบายไว้ชัดเจน สามารถอ้างเป็นหลักฐานหรือเป็นตำราได้ เช่น อภิธรรมปกรณ์ กถาวัตถุปกรณ์ เนตติปกรณ์ ปกรณ์วิเศษวิสุทธิมรรค เป็นต้น

     6) วิสุทธิมรรค เป็นคัมภีร์ที่เป็นผลงานของท่านพระพุทธโฆสาจารย์ ซึ่งคัมภีร์นี้เป็นคัมภีร์ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นสารานุกรมของพระพุทธศาสนา คัมภีร์วิสุทธิมรรคนี้เป็นงานเขียนสรุปสารัตถะของพระไตรปิฎก ที่ประมวลธรรมในคัมภีร์พระไตรปิฎก มาแสดงไว้เป็นหมวดหมู่โดยตั้งเป็นรูปคำถาม-คำตอบ แบ่งเป็น 3 ภาคใหญ่ๆ โดยถือแนววิสุทธิ 7 ประการเป็นหลัก โดยขยายสีลวิสุทธิออกเป็นนิเทศหนึ่งต่างหาก เรียกว่า สีลนิเทศ แยกจิตวิสุทธิออกเป็นนิเทศหนึ่ง เรียกว่า สมาธินิเทศ และแยกปัญญาวิสุทธิทั้ง 5 ออกเป็นอีกนิเทศหนึ่ง เรียกว่า ปัญญานิเทศ รวมทั้งสิ้นมี 23 นิเทศ ตัวอย่างคัมภีร์วิสุทธิมรรคจะแสดงดังภาพที่ ก-3


ภาพที่ ก-3  คัมภีร์วิสุทธิมรรค
ที่มา : (http://www.buddhabucha.net/wp-content/uploads/2012/12/khumpeevisuthimruk-300x251.jpg, 2012)

     7) มังคลทีปนี คัมภีร์มังคลัตทีปนีรจนาโดยพระสิริมังคลาจารย์ นักปราชญ์ในยุคล้านนา เป็นวรรณกรรมเรื่องเอกที่มีชื่อเสียงยิ่งของพระสิริมังคลาจารย์ รจนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2067 เพื่อเป็นการอธิบายความในมงคลสูตร ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก 2 แห่ง คือ ในขุททกปาฐะและสุตตนิบาต ซึ่งทั้งสองแห่งนี้อยู่ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มีอรรถกถาชื่อ ปรมัตถโชติกา ซึ่งพระพุทธโฆสะเป็นผู้รจนาไว้ อันเป็น
พระสูตรที่แสดงถึงการปฏิบัติที่เป็นมงคลรวม 38 ประการ เช่น การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต ฯลฯ ท่านได้อธิบายถึงความหมายของ
พระสูตรนี้โดยละเอียดด้วยภาษาบาลีอันไพเราะและสละสลวย และนำเรื่องจากคัมภีร์และชาดกอื่นๆ มาอธิบายประกอบ มังคลัตถทีปนีนี้ได้แปลเป็นภาษาไทยความยาว 893 หน้า และพิมพ์เผยแพร่หลายครั้งแล้ว เพราะเป็นหลักสูตรที่ผู้เรียนปริยัติธรรมจะต้องศึกษา ตัวอย่างคัมภีร์มังคลทีปนีจะแสดงดังภาพที่ ก-4


ภาพที่ ก-4  คัมภีร์วิสุทธิมรรค
ที่มา : (http://www.buddhabucha.net/wp-content/uploads/2012/12/1230280976-225x300.jpg, 2012)

บรรณานุกรม (Bibilography) >>>

1) พุทธบูชา. 2558. คัมภีร์ต่างๆ ในพระพุทธศาสนา. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.buddhabucha.net/buddhist-scripture. 30 ธันวาคม 2558
2) arthur04. 2558. คัมภีร์ในพุทธศาสนา. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.oknation.net/blog/arthur04/2011/04/07/
entry-2. 30 ธันวาคม 2558

กลับไปยังหน้า "พระไตรปิฎก" >>>

หน้าแรก | ความเป็นมา | ข่าวและกิจกรรม | เที่ยวชมวัด | บรรยายธรรม | บทสวดมนต์ | ติดต่อวัด | กลับขึ้นด้านบน
สงวนลิขสิทธิ์ ปี 2559 โดยมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์
จัดทำ ออกแบบและดูแล Website โดย นายรังสิมันตุ์ วงษ์นิกร

Free Web Hosting