เวลาปัจจุบัน

จำนวนผู้เข้าชม

install tracking codes
Visitors Total

ปฏิทิน


บทที่ 3 : การสังคายนา >>>

     ในศาสนาพุทธ คำว่า "สังคายนา" หมายถึง การประชุมตรวจชำระ สอบทาน และจัดหมวดหมู่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า วางลงเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยคำว่า "สังคายนา" หมายถึง สวดพร้อมกัน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "สังคีติ" โดยคำว่า "คีติ" แปลว่า การสวด สํ แปลว่า พร้อมกัน คำนี้มีมูลเหตุมาจากวิธีการสังคายนาพระธรรมวินัยที่เรียกว่า วิธีการร้อยกรอง หรือรวบรวมพระธรรมวินัย หรือประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีวิธีการคือ นำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงจำไว้มาแสดงในที่ประชุมพระสงฆ์ จากนั้นให้มีการซักถามกัน จนกระทั่งที่ประชุมลงมติว่าเป็นอย่างนั้นแน่นอน เมื่อได้มติร่วมกันแล้วในเรื่องใด ก็ให้สวดขึ้นพร้อมกัน การสวดพร้อมกันแสดงถึงการลงมติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ และเป็นการทรงจำกันไว้เป็นแบบแผนต่อไป

3.1) จุดประสงค์ของการทำสังคายนา

     จุดประสงค์ของการทำสังคายนาในพระพุทธศาสนา คือ การรวบรวมพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เพื่อธำรงรักษาพระธรรมวินัย
เอาไว้ไม่ให้สูญหาย หรือวิปลาสคลาดเคลื่อนไป เพราะพระธรรมวินัยนั้นคือหลักของพระพุทธศาสนา หากปราศจากคำสอนแล้ว
พระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่ไม่ได้ ดังพุทธวจนะในคราวจะเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา. ความหมาย : ดูกรอานนท์ ธรรมแลวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงลับไป พระเถระทั้งปวงเห็นความสำคัญของพระธรรมวินัย ซึ่งจะสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไปในภายภาคหน้า หากละเลยปล่อยไว้พระธรรมวินัยอาจเกิดความคลาดเคลื่อนไป จนอาจจะเป็นอันตรายต่อพระพุทธศาสนาได้ จึงได้เริ่มสังคายนารวบรวมพระธรรมคำสอนขึ้นเป็นหมวดหมู่ ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว 3 เดือน

3.2) การปฐมสังคายนา


ภาพที่ 3-1  ถ้ำสัตตบรรณคูหา สถานที่ทำปฐมสังคายนา (เป็นถ้ำขนาดใหญ่ในอดีต เพดานถ้ำยุบลงมาในช่วงหลัง)
ที่มา : (https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/3/31/Sattapanni.jpg/800px-Sattapanni.jpg, 2015)

     พระมหากัสสปเถระได้ทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วได้ 7 วัน ขณะที่ท่านกำลังเดินทางอยู่ ณ เมืองปาวา พร้อมด้วยหมู่ศิษย์จำนวนมาก เมื่อได้ทราบข่าวนั้น เหล่าศิษย์ของพระมหากัสสปะซึ่งยังเป็นปุถุชนอยู่ได้ร้องไห้คร่ำครวญกัน ณ
ที่นั้น จึงมีพระภิกษุบวชเมื่อแก่องค์หนึ่ง ชื่อว่า สุภัททะ ได้กล่าวขึ้นว่า "หยุดเถิด หยุดเถิด ท่านอย่าร่ำไรไปเลย พระสมณะนั้นพ้น (ปรินิพพาน) แล้ว เราจะทำอะไรก็ได้ตามพอใจ ไม่ต้องเกรงบัญชาใคร" พระมหากัสสปะได้ฟังเช่นนั้นคิดจะทำนิคคหกรรม (ทำโทษ) แต่เห็นว่ายังมิควรก่อน และดำริขึ้นว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง 7 วัน ก็มีผู้คิดที่จะทำให้เกิดความแปรปรวน หรือประพฤติปฏิบัติให้วิปริตไปจาก
พระธรรมวินัยเช่นนี้ จึงควรจะทำการสังคายนา และจะชักชวนพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งล้วนทันเห็นพระพุทธเจ้า ได้ฟังคำสอนของพระองค์มาโดยตรง เป็นผู้รู้คำสอนของพระพุทธเจ้า และได้อยู่ในหมู่สาวกที่เคยสนทนาตรวจสอบกันอยู่เสมอ รู้ว่าสิ่งใดที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้มาประชุมกัน เพื่อช่วยกันแสดง ถ่ายทอด รวบรวม ประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วตกลงวางมติไว้ จากนั้นท่านจึงเดินทางไปยังเมืองกุสินารา เพื่อเป็นประธานในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

     การทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ 1 จึงได้จัดขึ้นที่ถ้ำสัตบรรณคูหา เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ตามคำปรารภของ
พระมหากัสสปเถระ โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภ์ ใช้เวลาในการสังคายนารวบรวมพระธรรมวินัยอยู่ 7 เดือน จึงแล้วเสร็จ โดยในครั้งนั้น พระมหากัสสปเถระ เป็นประธานทำสังคายนา พระอานนท์ เป็นองค์วิสัชนา แสดงพระธรรมวินัยในหมวดพระสุตตันตปิฎก 
(ธรรมเทศนา) และพระอภิธรรมปิฎก (คำสอน) พระอุบาลีเถระ เป็นองค์วิสัชนาพระวินัยปิฎก ซึ่งแนวการวางระเบียบพระธรรมวินัยในครั้งนั้นจัดเป็นรูปแบบที่เรียกว่า พระไตรปิฎก และยังคงมีการรักษาสิ่งที่ได้จัดเก็บรวบรวมไว้ในครั้งปฐมสังคายนาอยู่ในพระไตรปิฎกฉบับเถรวาท โดยไม่มีการปรับแก้มาจนปัจจุบัน

3.3) การสังคายนาครั้งที่ 2


ภาพที่ 3-2  เมืองเวสาลี สถานที่ทำการสังคายนาครั้งที่ 2 (ทุติยสังคนา)
ที่มา : (https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/6/64/Anandastupa.jpg/
800px-Anandastupa.jpg, 2015)

     การทำสังคายนาครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 100 ที่วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ประเทศอินเดีย โดยมีพระยสกากัณฑกบุตร เป็นผู้ชักชวนพระเถระผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมในการทำสังคายนาครั้งนี้ได้แก่ พระสัพพกามี พระสาฬหะ พระขุชชโสภิตะ พระวาสภคามิกะ (พระเถระทั้ง 4 รูปนี้เป็นชาวปาจีนกะ) พระเรวตะ พระสัมภูตะสาณวสี พระยสะกากัณฑกบุตร และพระสุมนะ (พระเถระทั้ง 4 รูปนี้เป็นชาวปาฐา) โดย
พระเรวตะทำหน้าที่เป็นประธานผู้คอยซักถาม และพระสัพพกามีเป็นผู้นำในการวิสัชนาข้อวินัย การทำสังคายนาในครั้งนี้มีพระสงฆ์มาประชุมร่วมกัน 700 รูป ดำเนินการสังคายนาเป็นเวลา 8 เดือน จึงแล้วเสร็จ

     การทำสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้น โดยพระยสกากัณฑกบุตร พบเห็นข้อปฏิบัติย่อหย่อน 10 ประการทางพระวินัยของภิกษุวัชชีบุตร เช่น ควรเก็บเกลือไว้ในเขาสัตว์เพื่อรับประทานได้ ควรฉันอาหารในยามวิกาลได้ ควรรับเงินทองได้ เป็นต้น พระยสะกากัณฑกบุตรจึงชวนพระเถระต่างๆ ให้ช่วยกันวินิจฉัย แก้ความถือผิดในครั้งนี้

     โดยรายละเอียดของการปฐมสังคายนาและการสังคายนาครั้งที่ 2 นี้มีกล่าวถึงในพระวินัยปิฎกจุลวรรค แม้ในวินัยปิฎกจะไม่กล่าวถึงคำว่า พระไตรปิฎก ในการปฐมสังคายนาและการสังคายนาครั้งที่ 2 เลย แต่ในสมันตัปปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาอธิบายวินัยปิฎกนั้นบอกว่า การจัดหมวดหมู่คำสอนของพระพุทธศาสนาให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างพระไตรปิฎกนั้น มีมาตั้งแต่ครั้งปฐมสังคายนาแล้ว

3.4) การสังคายนาครั้งที่ 3


ภาพที่ 3-3  1 ใน 80 เสาห้องโถงแห่งอโศการาม กรุงปาฏลีบุตร สถานที่ทำการสังคายนาครั้งที่ 3 (ตติยสังคนา)
ที่มา : (https://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/2/21/Mauryan_Hall_pillar.JPG, 2015)

     การทำสังคายนาครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 234 ที่อโศการาม กรุงปาฏลีบุตร แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย โดยมี
พระโมคคลีบุตรติสสะเถระเป็นประธาน การทำสังคายนาในครั้งนี้มีพระสงฆ์มาประชุมร่วมกัน 1,000 รูป ดำเนินการสังคายนาเป็นเวลา 9 เดือน จึงแล้วเสร็จ

     การทำสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้น เมื่อพวกเดียรถีย์ หรือนักบวชศาสนาอื่นมาปลอมบวช แล้วแสดงลัทธิศาสนาและความเห็นของตนว่าเป็นพระพุทธศาสนา พระโมคคลีบุตรติสสะเถระจึงได้ขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราช ในการสังคายนาพระธรรมวินัย เพื่อกำจัด
ความเห็นของพวกเดียรถีย์ออกไป

     ในการทำสังคายนาครั้งนี้ พระโมคคลีบุตรติสสะเถระ ได้แต่งคัมภีร์กถาวัตถุ ซึ่งเป็นคัมภีร์หนึ่งในพระอภิธรรมไว้ด้วย และเมื่อทำสังคายนาเสร็จแล้ว ก็มีการส่งคณะฑูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ มีดังนี้

     3.4.1) พระมหินถเทระ โอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในลังกา

     3.4.2) พระโสณเถระและพระอุตตรเถระ อัครสาวกของพระเวสสภูพุทธเจ้า นำพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ในดินแดนสุวรรณภูมิ

3.5) การทำสังคายนาครั้งที่ 4

     การทำสังคายนาครั้งที่ 4 เกิดขึ้นที่ชาลันธร หรือบางหลักฐานคือกัชมีร์ ประเทศอินเดีย ในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะ แต่เป็นการสังคายนาของนิกายมหายาน ฝ่ายเถรวาทจึงไม่ยอมรับว่าเป็นการสังคายนา

3.6) การทำสังคายนาครั้งที่ 5

     การทำสังคายนาครั้งที่ 5 เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 460 ที่อาโลกเลณสถาน มตเลชนบท ประเทศศรีลังกา โดยมีพระรักขิตมหาเถระ
เป็นประธาน การทำสังคายนาในครั้งนี้เพื่อต้องการจารึกพระพุทธวจนะเป็นลายลักษณ์อักษร

3.7) ปัญหาการนับครั้งการสังคายนา

     การนับครั้งการสังคายนามีความแตกต่างกันในพระพุทธสานาฝ่ายเถรวาทกับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน นอกจากนี้ แม้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทก็ยังนับครั้งการสังคายนาไม่ตรงกัน ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

     3.7.1) ประเทศศรีลังกา นับการสังคายนา 3 ครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และการสังคายนาที่ประเทศตนเองอีก 3 ครั้ง โดยการสังคายนาครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2408 โดยการสังคายนาครั้งนี้เป็นที่รู้กันเฉพาะในประเทศศรีลังกาเท่านั้น

     3.7.2) ประเทศเมียนมา นับการสังคายนา 3 ครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และนับการสังคายนาครั้งที่ 2 ที่ประเทศศรีลังกาเป็นครั้งที่ 4 และนับการสังคายนาที่ประเทศตนเองอีก 2 ครั้ง โดยการสังคายนาครั้งสุดท้ายมีชื่อเรียกว่า ฉัฏฐสังคายนา เริ่มกระทำเมื่อ
วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 การสังคายนาครั้งนี้จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสฉลอง
25 พุทธศตวรรษ เพื่อพิมพ์พระไตรปิฎก อรรถกถา และคำแปลเป็นภาษาพม่า

     3.7.3) ประเทศไทย นับการสังคายนา 3 ครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และครั้งที่ 1-2 ที่ประเทศศรีลังกา แต่ในหนังสือสังคีติยวงศ์ หรือประวัติแห่งการสังคายนาของสมเด็จพระวันรัต ได้นับเพิ่มอีก 4 ครั้ง คือ

          3.7.3.1) การสังคายนาครั้งที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 956 ในประเทศศรีลังกา โดยพระพุทธโฆสะ ได้แปลและเรียบเรียงอรรถกถา ซึ่งถือว่าเป็นการชำระอรรถกถา ไม่ใช่พระไตรปิฎก ทางประเทศศรีลังกาจึงไม่นับเป็นการสังคายนา

          3.7.3.2) การสังคายนาครั้งที่ 7 เมื่อปี พ.ศ. 1587 ในประเทศศรีลังกา โดยพระกัสสปเถระเป็นประธานรจนาอรรถกถาต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นการชำระอรรถกถา ไม่ใช่พระไตรปิฎก ทางประเทศศรีลังกาจึงไม่นับเป็นการสังคายนา

          3.7.3.3) การสังคายนาครั้งที่ 8 เมื่อปี พ.ศ. 2020 ในประเทศไทย โดยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา

          3.7.3.4) การสังคายนาครั้งที่ 9 เมื่อปี พ.ศ. 2231 ในประเทศไทย โดยการอุปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

บรรณานุกรม (Bibilography) >>>

1) วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2558. สังคายนาในศาสนาพุทธ. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/สังคายนาในศาสนาพุทธ. 28 ธันวาคม 2558

กลับไปยังหน้า "พระไตรปิฎก" >>>

หน้าแรก | ความเป็นมา | ข่าวและกิจกรรม | เที่ยวชมวัด | บรรยายธรรม | บทสวดมนต์ | ติดต่อวัด | กลับขึ้นด้านบน
สงวนลิขสิทธิ์ ปี 2559 โดยมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์
จัดทำ ออกแบบและดูแล Website โดย นายรังสิมันตุ์ วงษ์นิกร

Free Web Hosting