เวลาปัจจุบัน

จำนวนผู้เข้าชม

install tracking codes
Visitors Total

ปฏิทิน


บทที่ 1 : บทนำ >>>

1.1) ความหมายของคำว่า "บวช"

     คำว่า บวช มาจากศัพท์คำว่า ปะวะชะ แปลว่า งดเว้น ได้แก่ งดเว้นในสิ่งที่ควรงดเว้น คือ เว้นจากกิจบ้านการเรือน มาบำเพ็ญเพียร
ทำกิจทางพระพุทธศาสนา ตัวอย่างเช่น สวดมนต์ รักษาศีล เป็นต้น การบวชนั้น ถ้าเป็นสามเณรจะเรียกว่า บรรพชา แต่ถ้าเป็นพระภิกษุสงฆ์จะเรียกว่า อุปสมบท

1.2) ความเป็นมาของการบวช

     บรรพชาหรือการบวชนั้น มีมาแต่เดิมก่อนพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นคือ ในหมู่ประชาชนนั้น มีบุคคลบางคนที่รู้จักคิดพิจารณา มองเห็นชีวิตของหมู่มนุษย์ในสังคม มีความเป็นไปทั้งทางดีและทางร้าย บางครั้งสังคมก็มีความเสื่อมโทรมและความเจริญ ผันผวนปรวนแปรไปตามสภาวะปัจจัยต่างๆ หาสาระและความสุขที่แท้จริงไม่ได้

     การมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคม ที่นอกจากจะวุ่นวาย หาความสุขได้ยากแล้ว ยังไม่เปิดโอกาสในการแสวงหาความเข้าใจ และความรู้จริงเกี่ยวกับชีวิต จึงมีคนบางคนในหมู่ชนเหล่านั้นปลีกตัวออกจากสังคม แล้วออกไปอยู่ในที่ห่างไกลเพื่อจะได้มีความสุขสงบ และมีเวลาคิดค้นสิ่งต่างๆ ไม่ถูกรบกวนด้วยเรื่องวุ่นวายที่เกี่ยวกับคนอื่น การปลีกตัวออกไปจากสังคมนั้นจึงได้เกิดการบวชขึ้นมา ผู้ที่ออกบวชเหล่านี้ก็ได้ไปอยู่ตามป่าเขา หรืออยู่ในถ้ำ แล้วก็หาความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต ไปคิดค้นพิจารณา ตลอดจนหาความสงบของจิตใจ และได้มีความสุขจากสันติ อันเป็นความสงบที่ปราศจากเรื่องวุ่นวายทางโลก

     การแสวงหาความหมายของชีวิต และชีวิตที่มีความหมายพร้อมกับหาความสงบของจิตใจอย่างนี้ ได้มีมาเป็นพื้นฐาน จนกระทั่งถึงสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ประสูติ ตอนแรกเจ้าชายสิทธัตถะก็อยู่ท่ามกลางชีวิตในโลก โดยประทับอยู่ในวัง และวุ่นวายอยู่กับเรื่องการหาความสุขจากวัตถุที่เรียกว่า กามสุข แต่ต่อมาก็ทรงเห็นว่า การที่จะอยู่ตามๆ กันไปกับผู้อื่น เกิดมาแล้วก็แก่ เจ็บ ตาย วนเวียนกันอยู่แค่นี้ โดยไม่รู้และเข้าใจในความจริงของชีวิต ไม่ช่วยให้เข้าถึงชีวิตที่ดีงาม ตลอดจนความเป็นอิสระของจิตใจ

     ในที่สุดพระองค์ได้ทรงพิจารณาหาทางว่า ทำอย่างไรดีจึงจะสามารถเข้าถึงความจริงและความดีงามนั้นได้ การมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายในสังคมนั้นไม่เปิดโอกาสให้ เพราะชีวิตการครองเรือนมีภาระต่างๆ วุ่นวายผูกรัดตัวมาก ทรงเห็นว่า การออกบวชอย่างนักบวชที่มีในยุคพุทธกาลสืบต่อกันมาแต่สมัยโบราณนั้น เป็นทางออกที่ดี จึงตัดสินพระทัยสละชีวิตในวัง แล้วเสด็จออกผนวช เสด็จไปแสวงหาความรู้ความเข้าใจจากสำนักต่างๆ และทรงประพฤติปฏิบัติตามแนวทางของพวกนักบวชเหล่านั้นทุกแบบ พระองค์ทรงไปทดลองตามแนวทางปฏิบัติของนักบวชสมัยนั้น ในที่สุดก็ทรงเห็นว่า ลัทธิของนักบวชเหล่านั้น รวมทั้งฤาษีดาบสต่างๆ ไม่เป็นหนทางที่จะให้บรรลุความรู้ความเข้าใจ เกิดปัญญาที่จะรู้แจ้งความจริง และทำชีวิตจิตใจให้เป็นอิสระหลุดพ้นได้ จึงทรงแสวงหาหนทางของพระองค์เอง แล้วก็ได้ตรัสรู้ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เมื่อ 2,500 กว่าปีมาแล้ว เราเรียกวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ว่า “วันวิสาขบูชา”

     เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว ก็ได้นำหลักธรรมคำสอนมาเผยแพร่ต่อไป ผู้ที่ศรัทธาในคำสอนของพระองค์ ก็ขอมาประพฤติปฏิบัติอยู่กับพระองค์ โดยสละความเป็นอยู่ท่ามกลางบ้านเรือน เรียกว่า ออกบวช เมื่อมีผู้มาขอบวชมากขึ้น มีนิสัยใจคอความประพฤติที่แตกต่างกัน
บางคนก็ทำสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร พระพุทธเจ้าก็ทรงจัดตั้งวางระเบียบวินัยขึ้น ทำให้การบวชมีแบบแผนเฉพาะขึ้นมา

     สำหรับพระพุทธศาสนา ตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าจัดไว้นั้น ในขั้นต้น การขอบวชเป็นสามเณรก่อน เรียกว่า บรรพชา ต่อมาเมื่อมีคุณสมบัติพร้อมแล้ว จะบวชให้สมบูรณ์ จึงเข้าที่ประชุมสงฆ์บวชเป็นพระภิกษุเรียกว่า อุปสมบท การบวชเป็นสามเณรนั้น ไม่จำเป็นต้องมีสงฆ์ มีแต่พระอุปัชฌาย์องค์เดียวก็พอ แต่ถ้าจะบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ ต้องมีพระสงฆ์ประชุมพิจารณาให้มติความเห็นชอบร่วมกัน

1.3) ลักษณะของการบวช

     การบวชจะมี 2 ลักษณะ ได้แก่

     1.3.1) การบวชเป็นสามเณร จะเรียกว่า "บรรพชา" การบรรพชาสามเณรจะแสดงดังภาพที่ 1-1


ภาพที่ 1-1  การบรรพชาสามเณร
ที่มา : (http://news.phuketindex.com/wp-content/uploads/2011/04/215.jpg, 2011)

     1.3.2) การบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ จะเรียกว่า "อุปสมบท" การอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์จะแสดงดังภาพที่ 1-2


ภาพที่ 1-2  การอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์
ที่มา : (http://www.prdnakhonpathom.com/sites/default/files/news/covers/2015/11/20/2457_resize.jpg, 2015)

1.4) ประเภทของการบวช

     การบวชในพุทธศาสนาแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

     1.4.1) เอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นวิธีการบวชที่พระพุทธเจ้าทรงประทานแก่กุลบุตร ผู้ขอบวชด้วยพระองค์เอง เป็นการอนุญาตให้มาเป็นพระภิกษุสงฆ์ โดยการตรัสด้วยพระวาจา แต่จะมีอยู่ 2 แบบ ได้แก่

           1.4.1.1) หากบุคคลผู้ที่ยังเป็นปุถุชนคนธรรมดาขอบวช พระองค์ก็จะตรัสเรียกให้เข้าเป็นภิกษุว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด" การตรัสพระวาจาเพียงแค่นี้ก็สำเร็จเป็นพระภิกษุใน
พุทธศาสนาแล้ว

           1.4.1.2) เป็นวิธีการบวชที่พระพุทธเจ้าบวชให้แก่บุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ สามารถกำจัดกิเลสได้แล้ว พระองค์จะตรัสพระวาจาว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด” จะตัดข้อความตอนสุดท้ายออก คือ “เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” เพราะผู้ที่กำจัดกิเลสได้แล้ว จะไม่มีความทุกข์โดยสิ้นเชิง

     วิธีการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา จะแสดงดังภาพที่ 1-3


ภาพที่ 1-3  วิธีการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา
ที่มา : (http://student.nu.ac.th/%E0%B9%88java-01-00/images/12469372441246937896l.jpg, 2015)

     1.4.2) ติสรณคมนูปสัมปทา เป็นการอุปสมบทด้วยวิธีให้ผู้ขอบวชกล่าวคำรับเอาและเข้าถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่ง (สรณะ) เป็นที่ระลึก แต่การบวชแบบติสรณคมนูปสัมปทานี้ เดิมใช้บวชพระสงฆ์มาก่อน กล่าวคือ ตอนที่พระพุทธเจ้าตัดสินพระทัยออกประกาศพุทธศาสนา ได้เสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระพุทธเจ้าทรงประทานการบวชแก่บุคคลผู้เลื่อมใสศรัทธา ขณะที่ประทับอยู่ในเขตเมืองพาราณสี จนมีพระภิกษุสาวกจำนวนรวมกันถึง 60 รูป แล้วพระองค์ก็ทรงส่งพระสาวกเหล่านั้นออกประกาศพุทธศาสนาไปตามบ้านเมืองต่างๆ โดยส่งไปแห่งละรูป มิให้เดินทางไปแห่งเดียวกันสองรูป เมื่อมีผู้ศรัทธาจะขอบวชในพุทธศาสนา พระสาวกก็ไม่อาจจะบวชให้แก่
ผู้เลื่อมใสเหล่านั้นได้ ต้องพาผู้มีศรัทธาเหล่านั้นเดินทางรอนแรม หนทางก็ทุรกันดาร พระพุทธเจ้าทรงเห็นความลำบากเหล่านี้ จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุสามารถบวชด้วยวิธีติสรณคมนูปสัมปทานี้ โดยไม่ต้องพาผู้ขอบวชเดินทาง วิธีการบวชแบบติสรณคมนูปสัมปทา จะแสดงดังภาพที่ 1-4


ภาพที่ 1-4  วิธีการบวชแบบติสรณคมนูปสัมปทา
ที่มา : (http://student.nu.ac.th/%E0%B9%88java-01-00/
images/normal_10.%20THE%20GREAT%20COUPLE%20DISCIPLES.jpg, 2015)

     1.4.3) ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา เป็นการบวชด้วยคำประกาศย้ำ 3 ครั้ง รวมทั้งคำประกาศนำเป็นครั้งที่ 4 เป็นวิธีอุปสมบทที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์บวชให้แก่กุลบุตร โดยให้ผู้นั้นบวชเป็นสามเณรชั้นหนึ่งก่อน แล้วให้ขออุปสมบท จากนั้น
พระกรรมวาจาจารย์จะสวดประกาศย้ำครั้งที่ 1 ว่า พระสงฆ์จะรับผู้นั้นเป็นพระภิกษุหรือไม่ เมื่อพระสงฆ์ยังนิ่งอยู่ก็สวดประกาศย้ำอีก 3 ครั้ง ถ้าไม่มีใครคัดค้านก็สามารถอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ได้ วิธีอุปสมบทนี้ใช้มาตั้งแต่สมัยพุทธกาลตอนกลางจนถึงปัจจุบัน และเมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ใช้วิธีญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทาแล้ว ก็ทรงเลิกวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา และติสรณคมนูปสัมปทาเสีย วิธีการบวชแบบญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา จะแสดงดังภาพที่ 1-5


ภาพที่ 1-5  วิธีการบวชแบบญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา
ที่มา : (http://student.nu.ac.th/%E0%B9%88java-01-00/images/1280809277.jpg, 2015)

บรรณานุกรม (Bibilography) >>>

1) นฤดี น้อยศิริ. 2558. คู่มือการบวช. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : www.ayu-culture.go.th/newweb/images/knowledge/
K_G001.pdf. 20 ธันวาคม 2558

กลับไปยังหน้า "การบวช" >>>

หน้าแรก | ความเป็นมา | ข่าวและกิจกรรม | เที่ยวชมวัด | บรรยายธรรม | บทสวดมนต์ | ติดต่อวัด | กลับขึ้นด้านบน
สงวนลิขสิทธิ์ ปี 2559 โดยมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์
จัดทำ ออกแบบและดูแล Website โดย นายรังสิมันตุ์ วงษ์นิกร

Free Web Hosting