เวลาปัจจุบัน

จำนวนผู้เข้าชม

install tracking codes
Visitors Total

ปฏิทิน


วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา : วันอาสาฬหบูชา (Buddhism Days : Asarnha Bucha Day) >>>

     วันอาสาฬหบูชา (บาลี : อาสาฬหปูชา, อักษรโรมัน : Asalha Puja, อังกฤษ : Asarnha Bucha) เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และวันหยุดราชการในประเทศไทย โดยคำว่า อาสาฬหบูชา ย่อมาจากคำว่า "อาสาฬหปูรณมีบูชา" ซึ่งหมายถึง "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่ 4 ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนมิถุนายนหรือเดือนกรกฎาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันอาสาฬหบูชา >>>


ภาพที่ ว3-1  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนา "ธัมมจักกัปปวัฒนสูตร" แก่ปัจจวัคคีย์ทั้ง 5
ที่มา : (http://www.fth0.com/uppic/46080002/news/46080002_0_20150728-090916.jpg, 2015)

     วันอาสาฬหบูชา ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือ วันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก (ปฐมเทศนา) คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5

     การแสดงธรรมในครั้งนั้น ทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ใน 5 ปัญจวัคคีย์ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรม หรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก และด้วยเหตุที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล (อนุพุทธะ) เป็นคนแรก จึงทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า "วันพระธรรม" หรือวันพระธรรมจักร อันได้แก่ วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และ "วันพระสงฆ์" คือ วันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อีกด้วย

สถานที่สำคัญเนื่องด้วยวันอาสาฬหบูชา (พุทธสังเวชนียสถาน) >>>

1) สารนาถ


ภาพที่ ว3-2  ป่าอีสิปตนมฤคทายวัน หรือสารนาถ เมืองพาราณสี รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย
ที่มา : (http://www.geocities.ws/tmchote/India2007/sarnath1.jpg, 2007)

     สารนาถ เป็นพุทธสังเวชนียสถานแห่งที่ 3 (1 ใน 4 แห่งของชาวพุทธ) ตั้งห่างจากเมืองพาราณสี เมืองศูนย์กลางทางศาสนาของศาสนาฮินดูไปทางเหนือราว 9 กิโลเมตร อยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน (หรือแคว้นมคธ ชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล)

     เหตุที่ได้ชื่อว่า "สารนาถ" นี้ เนื่องมาจากสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา เริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นที่พึ่งแก่มหาชนทั้งหลาย และมาจากคำศัพท์ว่า สารงฺค + นารถ = ที่อยู่ของสัตว์จำพวกกวาง สารนาถยังรู้จักกันดีในชื่อ "อิสิปตนมฤคทายวัน" หรือ "ฤๅษีปัตนมฤคทายวัน" (บาลี: อิสิปตนมิคทายวน) หมายถึง ป่าอันยกให้แก่หมู่กวาง และเป็นที่ชุมนุมของฤๅษี


ภาพที่ ว3-3  ธรรมเมกขสถูป สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5
ที่มา : (https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/7/78/Sarnath1.jpg, 2016)

     ภายในอาณาบริเวณสารนาถมี ธรรมเมกขสถูป เป็นพุทธสถานขนาดใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด โดยสันนิษฐานว่า บริเวณที่ตั้งของธรรมเมกขสถูป เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาเป็นครั้งแรก

     1.1) สารนาถในสมัยพุทธกาล

     สารนาถในสมัยพุทธกาล เรียกกันว่า ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เป็นสถานที่สงบ และเป็นที่ชุมนุมของเหล่าฤๅษี นักพรตต่างๆ ที่มาบำเพ็ญตบะและโยคะเพื่อเข้าถึงพรหมัน (ตามความเชื่อในคัมภีร์อุปนิษัทของพรามหณ์) และเป็นสถานที่ที่เหล่าปัญจวัคคียทั้ง 5 มาบำเพ็ญตบะที่นี่ (หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงเลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยา หันมาเสวยอาหารตามปกติ)

     หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา และเทศน์โปรดปัญวัคคีย์จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดแล้ว ได้ทรงพักจำพรรษาแรก ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พร้อมกับเหล่าปัญจวัคคีย์ ซึ่งในระหว่างจำพรรษาแรก พระพุทธเจ้าได้พระอัครสาวกเพิ่มกว่า 45 องค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระยสะ และเหล่าบริวารของท่านจำนวน 44 องค์ ซึ่งรวมถึงบิดา มารดา และภรรยาของพระยสะ ที่ได้มาฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ และได้ยอมรับนับถือเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะคู่แรกในโลกด้วย ทำให้ในพรรษาแรกมีพระอรหันต์รวมทั้งสิ้น 60 องค์

     นอกจากนี้ สารนาถ ยังเป็นสถานที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศเริ่มต้นส่งพระสาวกกลุ่มแรกออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา หลังจากทรงจำพรรษาแรกแล้ว (เชื่อกันว่า เป็นจุดที่เดียวกับที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธรรมเมกขสถูป) ดังปรากฏความตอนนี้ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ว่า

     "...ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้ไปด้วยกัน 2 รูป โดยทางเดียวกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง... "

สังยุตตนิกาย สคาถวรรคต ทุติยปาสสูตรที่ 5

     และด้วยเหตุทั้งหลายดังกล่าวมานี้ สารนาถจึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแห่งแรกมาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

     1.2) สารนาถหลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า


ภาพที่ ว3-4  ยอดเสาหินพระเจ้าอโศก และพระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนาสมัยคุปตะ
ที่มา : (https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/c/cb/Buddha_in_Sarnath.jpg, 2016)

     ประมาณ 300 กว่าปีต่อมา หลังพุทธกาล ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช กลุ่มสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมธรรมเทศนา และ
พระธรรมเทศนาอื่นๆ แก่เบญจวัคคีย์ และหมู่คันธกุฎีของพระพุทธเจ้า ในบริเวณป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้รับการบูรณะ และก่อสร้าง
ศาสนสถานเพิ่มเติมครั้งใหญ่ เพื่อถวายเป็นอนุสรณียสถานแก่พระพุทธเจ้า และกลุ่มพุทธสถานเหล่านี้ได้เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์คุปตะ (บันทึกของพระถังซำจั๋ง ซึ่งได้จาริกมาราวปี พ.ศ. 1300 ได้บันทึกไว้ว่า "มีพระอยู่ประจำ 1,500 รูป มีพระสถูปสูงประมาณ 100 เมตร มีเสาศิลาจารึกรูปหัวสิงห์ และสิ่งอัศจรรย์มากมาย ฯลฯ ") และได้ถูกทิ้งร้างไปเมื่อกษัตริย์โมกุลเข้าปกครองประเทศอินเดีย
จนท่านอนาคาริก ธรรมปาละ ชาวศรีลังกา ได้มาบูรณะขึ้นใหม่อีกครั้ง และได้รับการบูรณะจากรัฐบาลอินเดียเรื่อยมา จึงทำให้สารนาถกลายเป็นจุดหมายปลายทางในการแสวงบุญที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาวพุทธทั่วโลก มาจนถึงปัจจุบัน

     1.3) จุดแสวงบุญและสภาพของสารนาถในปัจจุบัน

     ปัจจุบัน สถานที่แสวงบุญในบริเวณสารนาถได้รับการขุดค้นบ้างเป็นบางส่วน บางส่วนก็ยังคงจมอยู่ใต้ดิน แต่ซากพุทธสถานสำคัญๆ ส่วนใหญ่ก็ได้รับการขุดค้นขึ้นมาทั้งหมดแล้ว ได้แก่


ภาพที่ ว3-5  ธรรมเขกสถูป
ที่มา : (http://www.indochinaexplorer.com/uploadforum/1456086447.jpg, 2016)

          1.3.1) ธรรมเขกสถูป เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา และทรงประกาศส่งพระสาวกออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา


ภาพที่ ว3-6  ยสสถูป
ที่มา : (http://www.dhammajak.net/board/files/_11_888.jpg, 2012)

          1.3.2) ยสสถูป เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงพบท่านยสะ ซึ่งต่อมาได้บรรลุเป็นพระอรหันต์องค์ที่ 6 ในโลก


ภาพที่ ว3-7  รากฐานธรรมราชิกสถูป
ที่มา : (http://www.dhammajak.net/board/files/120_252.jpg, 2012)

          1.3.3) รากฐานธรรมราชิกสถูป เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอนัตตลักขณะสูตร และเป็นสถานที่ที่เคยประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ


ภาพที่ ว3-8  พระมูลคันธกุฏิ
ที่มา : (http://www.dhammajak.net/board/files/_36_288.jpg, 2012)

          1.3.4) พระมูลคันธกุฏี พระคันธกุฏีที่ประทับจำพรรษาของพระพุทธองค์ในพรรษาแรก


ภาพที่ ว3-9  ซากเสาพระเจ้าอโศกมหาราช
ที่มา : (http://www.bloggang.com/data/p/prommayanee/picture/1242561187.jpg, 2009)

          1.3.5) ซากเสาพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งหักเป็น 5 ท่อน ในอดีตเสานี้เคยมีความสูงถึง 70 ฟุต และบนยอดเสามีรูปสิงห์ 4 หัวอีกด้วย ปัจจุบันสิงห์ 4 หัว ได้เหลือรอดจากการถูกทำลาย และรัฐบาลอินเดียได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สารนาถ โดยสิงห์ทั้ง 4 หัวนี้ ได้ถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศอินเดีย และข้อความจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชที่จารึกไว้ใต้รูปสิงห์ดังกล่าวคือ "สตฺยเมว ชยเต" หมายถึง "ความจริงชนะทุกสิ่ง" และได้ถูกนำมาเป็นคำขวัญประจำชาติของประเทศอินเดียอีกด้วย


ภาพที่ ว3-10  วัดมูลคันธกุฏิวิหารใหม่
ที่มา : (https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/0b/Stupa_Sarnathissa.jpg, 2016)

          1.3.6) วัดมูลคันธกุฏีวิหารใหม่ วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยท่านอนาคาริก ธรรมปาละ พระสงฆ์ชาวศรีลังกา เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้รับมอบจากรัฐบาลอินเดีย และยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามมาก ภายในพุทธวิหารอีกด้วย


ภาพที่ ว3-11  พิพิธภัณฑ์สารนาถ
ที่มา : (http://www.dhammajak.net/board/files/18_651.jpg, 2012)

          1.3.7) พิพิธภัณฑ์สารนาถ เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่ขุดค้นได้ภายในบริเวณสารนาถ ซึ่งโบราณวัตถุที่สำคัญคือ ยอดหัวสิงห์พระเจ้าอโศก และพระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนา

กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันอาสาฬหบูชา >>>

     ในวันอาสาฬหบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดทั้งวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่นๆ เช่น ไปวัดรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น

     โดยก่อนทำการเวียนเทียน พุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวคำสวดมนต์และคำบูชาในวันอาสาฬหบูชา โดยปกติตามวัดต่างๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ (โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน) ในเวลาประมาณ 20.00 น. โดยบทสวดมนต์ที่พระภิกษุสงฆ์นิยมสวดในวันอาสาฬหบูชาก่อนทำการเวียนเทียน นิยมสวด (ทั้งบาลีและคำแปล) ตามลำดับดังต่อไปนี้

1) บทบูชาพระรัตนตรัย
2) บทนมัสการพระพุทธเจ้า
3) บทสรรเสริญพระพุทธคุณ
4) บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
5) บทสรรเสริญพระธรรมคุณ
6) บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
7) บทสรรเสริญพระสังฆคุณ
8) บทสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ
9) บทสวดบูชาเนื่องในวันอาสาฬหบูชา

     จากนั้นจุดธูปเทียนและถือดอกไม้ เป็นเครื่องสักการบูชาในมือ แล้วเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบทสรรเสริญพระพุทธคุณ (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดบทสรรเสริญ
พระธรรมคุณ (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดบทสรรเสริญพระสังฆคุณ (รอบที่สาม) จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถาน จึงเป็นอันเสร็จพิธี

การกำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย >>>


ภาพที่ ว3-12  พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) ผู้เสนอให้มีการเพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ที่มา : (http://www.gongtham.net/my_data/number_meakong/05_vin.jpg, 2016)

     วันอาสาฬหบูชา ได้รับการกำหนดให้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2501 โดยคณะสังฆมนตรี (หรือมหาเถรสมาคม) ในสมัยนั้น ได้มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา (ในประเทศไทย) ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) โดยคณะสังฆมนตรีได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายก กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา พร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชาขึ้น เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501

     หลังจากปี พ.ศ. 2501 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มมีการรณรงค์ให้มีการประกอบพิธีอาสาฬหบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้ร่วมใจกันประกอบพิธีนี้กันอย่างกว้างขวาง และแพร่หลายไปทุกจังหวัด จนกลายเป็นพิธีสำคัญของพุทธศาสนิกชนไทยนับตั้งแต่นั้นมา ดังนั้นในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2505 คณะรัฐมนตรีนำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น จึงได้ลงมติให้ประกาศกำหนดเพิ่มให้วันอาสาฬหบูชา หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (สำหรับปีไม่มีอธิกมาส) และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หลัง (ในปีมีอธิกมาส) เป็นวันหยุดราชการประจำปีอีก 1 วัน เพื่อเป็นการให้ความสำคัญกับวันอาสาฬหบูชา และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พุทธศาสนิกชนที่จะไปประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาด้วย

การประกอบพิธีทางศาสนาในวันอาสาฬหบูชา >>>

1) พระราชพิธีเนื่องในวันอาสาฬหบูชา

     การพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันเข้าพรรษานี้ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งเดิมก่อนปี พ.ศ. 2501 จะเรียกว่า การพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันเข้าพรรษา แต่หลังจากที่ทางคณะสงฆ์มีการกำหนดให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง (ก่อนหน้าวันเข้าพรรษา 1 วัน) ในปี พ.ศ. 2501 สำนักพระราชวังจึงได้กำหนดเพิ่มการบำเพ็ญพระราชกุศลในวันอาสาฬหบูชาเพิ่มเติมขึ้นมาด้วยอีกวันหนึ่ง รวมเป็น 2 วัน

     การพระราชพิธีนี้ โดยปกติแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จะเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล และบางครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ โดยสถานที่ประกอบ
พระราชพิธีหลักจะจัดในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรนิเวศวิหาร และภายในพระบรมมหาราชวัง การสำคัญของพระราชพิธีนี้คือ การถวายพุ่มเทียนเครื่องบูชาแก่พระพุทธปฏิมา และพระราชาคณะ รวมทั้งการพระราชทานภัตตาหารแก่พระราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญ ซึ่งรับอาราธานามารับบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวังจำนวน 150 รูป ในวันเข้าพรรษาทุกปี ซึ่งการพระราชพิธีนี้เป็นการแสดงออกถึงพระราชศรัทธาอันแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนา ขององค์พระมหากษัตริย์ไทย ผู้ทรงเป็นเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภกมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

2) พิธีสามัญ


ภาพที่ ว3-13  พิธีกรรมเวียนเทียน วันอาสาฬหบูชา
ที่มา : (https://pallopdotnet.files.wordpress.com/2013/07/watsongdharma5.gif, 2013)

     การประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเนื่องในวันอาสาฬหบูชาของพุทธศาสนิกชนชาวไทย โดยทั่วไปนิยมทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียนรอบพระอุโบสถ หรือสถูปเจดีย์พุทธสถานต่างๆ ภายในวัด เพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชานั่นเอง

     แนวปฏิบัติในการประกอบพิธีในวันอาสาฬหบูชาตามประกาศสำนักสังฆนายก ที่คณะสงฆ์ไทยได้ถือเป็นแบบแผนมาจนถึงปัจจุบันนี้ คือ ให้คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชน จัดเตรียมสถานที่ก่อนถึงวันอาสาฬหบูชา โดยมีการทำความสะอาดวัด และเสนาสนะต่างๆ จัดตั้งเครื่องพุทธบูชา ประดับธงธรรมจักร และเมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ก็ให้จัดการแสดงพระธรรมเทศนาตลอดทั้งวัน เมื่อถึงเวลาค่ำให้มีการทำวัตร สวดมนต์ และสวดบทพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร มีการแสดงพระธรรมเทศนาในเนื้อหาเรื่อง พระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร นำสวดบทสรภัญญะบูชาคุณพระรัตนตรัย และให้พระสงฆ์นำเวียนเทียนบูชาพระพุทธปฏิมา อุโบสถ หรือสถูปเจดีย์ เมื่อเสร็จสิ้นการเวียนเทียนแล้ว อาจให้มีการเจริญจิตภาวนา สนทนาธรรม แต่กิจกรรมทั้งหมดนี้ควรให้เสร็จสิ้นก่อนเวลา 24.00 น. ของวันนั้น เพื่อพักผ่อน เตรียมตัวก่อนเริ่มกิจกรรมวันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8) ในวันรุ่งขึ้นต่อไป

     การประกอบพิธีวันอาสาฬหบูชาในปัจจุบันนี้ นอกจากการเวียนเทียน ทำบุญตักบาตร ในวันสำคัญแล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐ องค์กรทางศาสนา และภาคประชาชน ร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมากมาย เพื่อเป็นการเผยแพร่พระพุทธศาสนา และประชาสัมพันธ์กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาต่างๆ ให้แก่ประชาชน เช่น กิจกรรมสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนาวันอาสาฬหบูชา ณ ท้องสนามหลวง หรือตามวัดในจังหวัดต่างๆ เป็นต้น

หลักธรรมในวันอาสาฬหบูชา >>>

1) สิ่งที่ไม่ควรเสพ 2 อย่าง

     ส่วนแรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คือ กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค กล่าวคือ ทรงแสดงสิ่งที่ไม่ควรเสพสองอย่าง อันได้แก่ การปฏิบัติตนย่อหย่อนสบายกายเกินไป (กามสุขัลลิกานุโยค) และการปฏิบัติตนจนทรมานกายเกินไป (อัตตกิลมถานุโยค)

     การที่พระพุทธเจ้าตรัสปฏิเสธแนวทางสองอย่างดังกล่าว เพื่อแสดงให้รู้ว่า พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่สอนให้พ้นจากทุกข์ด้วยการแก้ปัญหานอกกาย คือ หนีความทุกข์ด้วยการมัวแต่แสวงหาความสุข (หนีความทุกข์อย่างไม่ยั่งยืน เพราะต้องแสวงหามาปรนเปรอตัณหาไม่สิ้นสุด) หรือหาทางพ้นทุกข์ด้วยการกระทำตนให้ลำบาก (สู้หรืออยู่กับความทุกข์อย่างโง่เขลา ขาดปัญญา ทำตนให้ลำบากโดยใช่เหตุ) เพื่อที่จะทรงขับเน้นหลักการที่พระพุทธองค์จะทรงแสดงต่อไปว่า มีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากแนวคิดพ้นทุกข์เดิมๆ ซึ่งเป็นการประกาศแนวทางพ้นทุกข์ใหม่แก่โลก อันได้แก่ การแก้ทุกข์ที่ตัวต้นเหตุ (แก้ที่ภายในใจของเราเอง) ซึ่งก็คือ มัชฌิมาปฏิปทา นั่นเอง

2) มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง)

     มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง) เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลางๆ ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้ มิใช่การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด 2 อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใด คือ

1) การหมกมุ่นในความสุขทางกาย คือ การมัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง รวมความเรียกว่า เป็นการหลงเพลิดเพลิน หมกมุ่นในกามสุข เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค

2) การสร้างความลำบากแก่ตน คือ การดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย เช่น บำเพ็ญตบะ การทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค

     ดังนั้น เพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้ ต้องใช้ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ 8 ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือมรรคมีองค์ 8 ได้แก่

     2.1) สัมมาทิฏฐิ (ปัญญาอันเห็นชอบ) คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง

     2.2) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม

     2.3) สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) คือ กล่าวคำสุจริต

     2.4) สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ) คือ ทำการที่สุจริต

     2.5) สัมมาอาชีวะ (อาชีพชอบ) คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต

     2.6) สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี

     2.7) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด

     2.8) สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ) คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน

3) อริยสัจ 4

     อริยสัจ 4 หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ ซึ่งก็คือ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่

     3.1) ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์

     3.2) สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งความทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของความทุกข์ คือ ตัณหา ซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆ

     3.3) นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา  

     3.4) มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการดังกล่าวข้างต้น

บรรณานุกรม (Bibilography) >>>

1) วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2559. วันอาสาฬหบูชา. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/วันอาสาฬหบูชา. 16 พฤษภาคม 2559
2) กระปุกดอทคอม. 2559. วันอาสาฬหบูชา 2559 ประวัติ ความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://hilight.kapook.com/view/26024. 16 พฤษภาคม 2559
3) วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2559. สารนาถ. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/สารนาถ. 16 พฤษภาคม 2559

กลับไปยังหน้า "วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา" >>>

หน้าแรก | ความเป็นมา | ข่าวและกิจกรรม | เที่ยวชมวัด | บรรยายธรรม | บทสวดมนต์ | ติดต่อวัด | กลับขึ้นด้านบน
สงวนลิขสิทธิ์ ปี 2559 โดยมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์
จัดทำ ออกแบบและดูแล Website โดย นายรังสิมันตุ์ วงษ์นิกร

Free Web Hosting